top of page

สมรภูมิพลังงานสำรอง และแชมป์ 4 อันดับ


Vacheron Constantin Traditionnelle Twin Beat / Hublot MP-05 / Rebellion Prometheus และ ALS Lange 31

พลังงานสำรองเป็นลักษณะสำคัญของนาฬิกาจักรกลที่สร้างความต่างจากนาฬิกาควอทซ์ใส่ถ่าน เพราะสิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงความสามารถของเส้นลวดโลหะว่าจะให้พลังงานขับเข็มนาฬิกาเดินไปได้นานสักแค่ไหนและก่อให้เกิดความผูกพันธ์ระหว่างนาฬิกากับผู้สวมใส่ เพราะเมื่อลานที่เคยเติมไว้หมดลง ผู้สวมใส่ก็ต้องเติมลานและตั้งค่าเวลาใหม่เพื่อปลุกให้นาฬิกากลับมาเดินอีกครั้งแล้วครั้งเล่า


ในปัจจุบันนาฬิกาจะมีพลังงานสำรองเฉลี่ยอยู่ที่ 36-48 ชั่วโมงหรือประมาณ 2 วัน และเมื่อมีกลไก Self-winding หรือเป็นนาฬิกาออโต้ที่เพียงขยับข้อมือก็เติมลานได้อัตโนมัติ จึงยืดระยะเวลาของพลังงานสำรองไปได้ยาวขึ้น จึงดูเหมือนว่าการเพิ่มพลังงานสำรองกลายเป็นสิ่งที่ไม่ได้จำเป็นมากขนาดนั้น อย่างไรก็ตาม เมื่อการพัฒนาระบบนาฬิกาไปถึงจุดหนึ่ง เป้าหมายหลักของนาฬิกาเริ่มไม่ใช่แค่การใช้งาน แต่เป็นการเอาชนะขีดจำกัดของสิ่งที่แทบไม่มีใครคาดคิด ให้เป็นไปได้ บทความนี้จะพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับ 4 แบรนด์นาฬิกาที่ประชันกันในศึกสมรภูมิพลังงานสำรองและฟาดฟันกันด้วยพลังงานที่ยาวนานระดับหลักเดือน


1. A. Lange & Söhne Lange 31

2017: A. Lange & Söhne Lange 31 White gold with dial in grey Reference: 130.039

เริ่มกันด้วยเรือนแรก นาฬิกาสัญชาติเยอรมันเจ้าของความงามตามแนวทางของนาฬิกาอนุรักษ์นิยม A. Lange & Söhne ในปี 2007 ทางแบรนด์ได้เปิดตัวคอลเลคชั่นที่ชือว่า Lange 31 ซึ่งดำรงตำแหน่งนาฬิกาข้อมือจักรกลเรือนแรกของโลกที่มีพลังงานสำรองถึง 744 ชั่วโมงหรือ 31 วันตามชื่อนาฬิกา ทิ้งห่างนาฬิกาแบรนด์อื่น ๆ อย่าง IWC และ Panerai ที่เคยทำไว้ 7-10 วัน


ความพิเศษของ Lange 31 คือการมีพลังงานเพียงพอที่จะเดินถึง 31 วันโดยใช้แค่ลวด 2 เส้นในตลับลานเดียว แต่ละเส้นยาวถึง 185 มม ถือเป็น 10 เท่าของความยาวของลวดทั่วไป แต่การเพิ่มความยาวลวดไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ที่นึกอยากจะเพิ่มพลังงานสำรองแล้วก็ใส่ลงไป เพราะต้องทำให้ลวดที่ยาวขนาดนั้นบางพอที่จะทำให้ขนาดของนาฬิกายังคงใส่อยู่บนข้อมือได้แล้วดูไม่ใหญ่เกินไป ความท้าทายถัดมาคือ การส่งพลังงานที่มหาศาลจากลวดที่ยาวกว่าปกติให้เป็นไปได้อย่างนุ่มนวลและสม่ำเสมอ เพราะเมื่อนาฬิกาเริ่มทำงานและลวดในตลับลานคลายตัว แรงบิดหรือทอร์ค (Torque) จากตลับลานนั้นจะมึคงที่ โดยแรงจะมากในช่วงแรกและลดน้อยลงเรื่อย ๆ เมื่อสุดลาน ปัญหานี้ส่งผลต่อความเที่ยงตรงของนาฬิกา และหนำซ้ำแรงบิดที่ได้ในช่วงต้นอาจจะแรงมากจนทำให้จักรกลอกและฟันเฟืองเสียหายได้ วิศวกรนาฬิกาต่างรู้วิธีแก้นี้ดีจึงใส่กลไกสร้างแรงคงที่ไว้ระหว่างตลับลานและ Escapement ทำให้ตลับลานปล่อยพลังงานขนาดคงที่ทุก ๆ 10 วินาที ดังนั้นจักรกลอกจะแกว่งในองศาที่เหมาะสมและคงความเที่ยงตรงตั้งแต่วันแรกจนครบ 31 วัน


ปัญหาอีกอย่างคือ การเติมลานให้กับนาฬิกา หากเป็นนาฬิกาทั่วไปก็หมุนเม็ดมะยมไม่กี่สิบครั้งก็เติมลานเต็มแล้ว แต่ Lange 31 เรือนนี้มีลวดที่ยาวกว่า 10 เท่า การหมุนเม็ดมะยมจึงไม่น่าใช่สิ่งที่น่าอภิรมย์นักเมื่อนึกถึง และยิ่งไปกว่านั้นคือลวดตลับลานแข็งแรงมากจนการไขลานด้วยเม็ดมะยมไม่ตอบโจทย์ ทางแบรนด์จึงหาทางออกที่ยอดเยี่ยมโดยใช้กุญแจเติมลานแทน เพราะกุญแจสร้างแรงงัดได้มากกว่าผ่านการเสียบกุญแจเข้าไปที่ช่องตรงด้านหลังตัวเรือน นอกจากนี้ยังถูกออกแบบให้เติมลานได้อย่างลื่นไหลและมี Torque Limiter หรือตัวจำกัดแรงบิดเพื่อป้องกันไม่ให้มีการไขลานมากเกินไป


2017: ด้านหลังของ A. Lange & Söhne Lange 31 จะเห็นว่าตลับลานใหญ่มากจนกินพื้นที่ไปมากกว่าครึ่ง

กลไกและเส้นลวดยาวกว่า 370 มม นี้อยู่ในตัวเรือนขนาด 45.9 มม และหนา 15.9 มม ถือว่าเป็นนาฬิกาที่ใหญ่กว่ามาตรฐานมากพอสมควรและถือว่าเป็นนาฬิกา A. Lange & Söhne ที่ใหญ่ที่สุดหากไม่นับกลุ่ม Grande Complication ด้านหลังเปิดให้เห็นเครื่องภายในซึ่งจะเห็นว่าตลับลานกินพื้นที่ส่วนใหญ่ไปมากกว่าครึ่ง ในปี 2017 ก็ได้มีปรับรูปโฉมด้วยวัสดุตัวเรือน White Gold และหน้าปัดสีเทาที่มีมาตรวดบอกวันและพลังงานสำรอง มีจำนวนจำกัด 100 เรือน ราคาอยู่ที่ 142,300 ยูโร หรือประมาณ 5,240,000 บาท


ในแง่ของการใช้งานนั้นการทำให้นาฬิกาเดินต่อไปจนถึง 31 วันหรือหนึ่งเดือนเต็มถือว่าเป็นการเลือกจำนวนเวลาได้เหมาะกับการใช้งานจริง เพราะต้องจำแค่ว่าต้องไขลานทุกวันที่นั้น ๆ ของแต่ละเดือนหลังจากหยิบมาสวมใส่ไม่กี่ครั้งแล้ววางไว้ หมดกังวลเรื่องนาฬิกาหยุดเดินและหยุดรักษาเวลาแม้ไม่ได้สวมใส่


2. Hublot MP-05 LaFerrari

2013: Hublot MP-05 LaFerrari

หลังจากที่ Lange 31 ครองตำแหน่งนาฬิกาที่มีพลังงานสำรองมากที่สุดตั้งแต่ปี 2007 เป็นเวลาเกินครึ่งทศวรรษแชมป์หน้าใหม่จึงถือกำเนิดขึ้นในปี 2013 ซึ่งก็คือ Hublot MP-05 ที่มีพลังงานสำรองยาวนานถึง 50 วัน มากกว่าแชมป์เก่าเกือบ 2 เท่า


Hublot นั้นเป็นแบรนด์นาฬิกาหรูจากสวิสที่รูปลักษณ์แปลกตา สะท้อนการเป็นเครื่องจักรและเทคโนโลยีมากกว่าการเป็นนาฬิกาทั่วไปเป็นทุนเดิม แต่ Hublot MP-05 เรือนนี้ต่างไปกว่าคอลเลคชั่นใด ๆ ของแบรนด์เพราะเกิดจากความสัมพันธ์ระหว่าง Hublot และบริษัทรถปอร์ตหรู Ferrari ทำให้รูปร่างตัวเรือนคล้ายโลโก้ของ Ferrari ที่เป็นสามเหลี่ยมคว่ำหรืออาจมองว่าคล้ายกับทรงรถสปอร์ตก็เป็นไปได้ และยิ่งไปกว่านั้นคือการมีทรูบิญองติดตั้งอยู่ด้านล่างของหน้าปัดซึ่งไม่ได้มีเพื่อเพิ่มความเที่ยงตรง แต่เป็นเรื่องของความหรูหราและการเพิ่มศิลปะเชิงกลและความซับซ้อนให้กับการเคลื่อนไหวที่ซับซ้อนอยู่แล้วต่างหาก น่าเสียดายที่หากทำให้ทรูบิญองและตลับลานทั้ง 11 มีความเชื่อมโยงกันคงจะเป็นกลไกที่พิเศษมากขึ้นไม่น้อย


สำหรับการดูเวลา แม้มองผ่าน ๆ อาจจะลายตาอยู่บ้างเพราะล้อที่หมุนแสดงเวลาเล็กเลยทำให้เลขที่สลักลงไปต้องเบียดเสียดกัน ล้อฝั่งซ้ายบนและล่างจะบอกพลังงานสำรองหลักวันและชั่วโมงตามลำดับ ส่วนมุมขวาบนจะแบ่งครึ่งอีกที ครึ่งซ้ายคือชั่วโมงและครึ่งขวาคือนาที และล่างขวาเป็นวินาที ทั้งสองฟากแทรกด้วยตลับลานทั้ง 11 ที่ติดตั้งเรียงกันอยู่ตรงกลาง ชิ้นส่วนทั้งหมดถูกเปิดให้เห็นและขับเคลื่อนด้วย Cal. HUB9005.H1.6 เป็นระบบไขลานด้วยมือ ซึ่งทางแบรนด์กล่าวว่าเครื่องของนาฬิการุ่นนี้มีชิ้นส่วนมากกว่าเรือนไหน ๆ ที่เคยทำมาเพราะมีถึง 637 ชิ้น


อุปกรณ์เสริมในการไขลานและตั้งค่าเวลาของ Hublot MP-05 LaFerrari

สิ่งสำคัญที่สุดคือการที่จะได้พลังงานสำรองจำนวนมหาศาลระดับ 50 วันมานั้นต้องใช้ตลับลานถึง 11 ชิ้นซึ่งประกบกันอยู่ และมีทับทิมลดแรงเสียดทานอยู่ตรงตลับลานเพื่อลดการสึกหรอ ส่วนเรื่องการเติมลานนั้น แน่นอนว่าไม่สามารถใช้การหมุนเม็ดมะยมเพื่อเติมลานให้ทั้ง 11 ชิ้นได้ Hublot MP-05 จึงมีอุปกรณ์เสริมเป็นไขควงอิเล็คทรอนิกส์เพื่อไขลานและยังมีอุปกรณ์ชิ้นอื่น ๆ เพื่อใช้ในการตั้งค่านาฬิกา ตัวเรือนนั้นทำจากคาร์บอนไฟเบอร์สะท้อนถึงรถสปอร์ต Ferrari และผลิตจำนวน 50 เรือน ราคา 300,000 สวิสฟรังก์ หรือประมาณ 10,000,000 บาท


หากเทียบกับ Lange 31 แล้ว ตลับลานที่เพิ่มขึ้นมาเป็น 11 ชิ้นและสามารถเพิ่มจำนวนชั่วโมงเป็น 1,200 ชั่วโมงก็ถือว่ามีประโยชน์ทั้งด้านกลไกและดีไซน์ที่แปลกใหม่ตามสไตล์ของแบรนด์ที่มากับราคาที่เพิ่มเป็น 2 เท่า


3. Rebellion Prometheus T3K

2017: Rebellion Prometheus T3K สีเหลือง

แม้จะเปิดตัวในปี 2017 หลังเรือน Hublot MP-05 ที่มีพลังงานสำรองถึง 50 ชั่วโมง Rebellion Prometheus T3K นาฬิกาแห่งยุคอนาคตก็หันมาลงแข่งด้วยพลังงานสำรอง 1,000 ชั่วโมงหรือ 42 วัน ซึ่งจริงอยู่ว่าจำนวนชั่วโมงน้อยกว่า แต่ก็ยังเป็นเรือนที่ควรค่าแก่การกล่าวถึงอยู่ดี แบรนด์นี้ก่อตั้งโดยนักอุตสาหกรรมที่หลงใหลในการผลิตนาฬิกา เทคโนโลยีชั้นสูง และการแข่งรถ ซึ่งชื่อ Rebellion ก็บอกถึงเส้นทางของแบรนด์ได้อย่างชัดเจนว่าเป็นนาฬิกาแห่งการขบถ แหวกแนวจากนาฬิกาทั่วไปที่อยู่ในหน้าปัดวงกลม รูปลักษณ์ไม่คุ้นตาดั่งกับว่าเป็นหุ่นยนตร์ที่หลุดออกมาจากภาพยนตร์ทรานส์ฟอร์เมอร์ ทำให้นาฬิกาของแบรนด์นี้อาจเรียกได้ว่าสุดโต่งไปในทุกหนทาง ไม่ว่าจะเป็นกลไกหรือวัสดุที่เลือกใช้ จะต้องเป็นสิ่งที่อยู่ยอดสุดของสิ่งนั้น ๆ


สำหรับ Rebellion Prometheus T3K รุ่นที่ออกมานี้การใช้ชื่อ Prometheus ก็ดูมีนัยสำคัญเพราะนี่คือชื่อของไททันแห่งไฟหรือยักษ์ในตำนานเทพกรีก ไททันตนนี้ก็ไม่เชื่อฟังเทพผู้เป็นใหญ่อย่างซุสเช่นกัน โดยวีรกรรมสุดแสบของเขาคือการขโมยไฟจากเทพองค์หนึ่งไปมอบให้แก่มนุษย์ ทำให้มนุษย์รู้จักใช้แสงสว่าง แม้ว่าเขาถูกลงโทษในท้ายที่สุดแต่การแหกกฏของเขาทำให้เขาเป็นเทพที่กล้าหาญและได้รับการยกย่องนับถือ นาฬิกาเรือนนี้ก็เช่นกันที่ต่างจากสิ่งที่ผู้คนคาดหวังให้นาฬิกาเรือนหนึ่งจะเป็นด้วยการมีพลังงานสำรองแตะหลักพันชั่วโมงและรูปโฉมที่คล้ายกับเครื่องจักร


เริ่มจากข้อมูลพื้นฐานอย่างวัสดุที่ใช้ ตัวเรือนทำจากไทเทเนียมเคลือบ DLC (Diamond Like Carbon) ซึ่งคือฟิล์มคาร์บอนที่เกิดจากเพชรและคาร์บอนทำให้ทนต่อการกัดกร่อนและมีผิวสัมผัสที่เรียบเนียน หน้าปัดทรง 8 เหลี่ยมขนาด 52.20 มม สูง 47.90 มม และหนา 18.20 มม ใช้ส่วนประกอบทั้งหมด 693 ชิ้น จึงเป็นนาฬิกาที่ใหญ่มากเรือนหนึ่ง


2017: กลไกภายใน Rebellion Prometheus T3K จะเห็นว่าตลับลานทั้ง 6 ขนาบข้างโดยมีโซ่ขนาดเล็กอยู่ด้านข้าง

ไฮไลท์สำคัญอยู่ตรงที่เครื่อง REB T-1000 ระบบไขลานด้วยมือที่ใช้เวลาวิจัยและพัฒนากว่า 3 ปี วิ่งด้วยความถี่ 18,000 vph หรือ 2.5 Hz มี Lever ทำจากอลูมิเนียมชนิดพิเศษชื่อว่า Avional พัฒนาโดยนักทำนาฬิกาชาวสวิส เดวิด คองโดซ์ (David Candaux) เจ้าของแบรนด์นาฬิกา D.Candaux ซึ่ง Avional มีส่วนผสมเป็นอลูมิเนียมผสมทองแดงและซิลิกอนประมาณ 1% เป็นที่รู้จักในฝรั่งเศสในชื่อ AU4G ถูกใช้ในการทำเครื่องบินรบในสงครามของฝรั่งเศสและอิตาลี นอกจากนี้ยังใช้ในการแข่งขันรถยนต์บางประเภทในช่วงปี 1960 ทำให้ทั้งตัวเรือนและเครื่องมีความแข็งแกร่งแต่ยังคงน้ำหนักเบา และที่สำคัญไปกว่านั้น พลังงานสำรองกว่า 1,000 ชั่วโมงมาจากตลับลานทั้ง 6 ตั้งขนาบข้างซ้ายขวาฝั่งละ 3 และมีลูกกลิ้งอลูมิเนียมตรงกลางเพื่อบอกเวลาชั่วโมงและนาที และตลับลานจะส่งพลังงานผ่านโซ่ขนาดเล็กที่สุดในโลก 2 เส้นเท่านั้น


Rebellion Prometheus ผลิตจำนวนจำกัดเพียง 25 ชิ้นเท่านั้น แต่สามารถเลือกสีตัวเรือนได้ 3 สี และสีจักรกลภายในได้อีก 15 สี เช่น สีส้ม สีฟ้า สีแดง สีดำ สีม่วง และ สีเขียว มาพร้อมสายหนังจระเข้หรือนกกระจอกเทศสีดำ ราคาอยู่ที่ 1.2 ล้านเหรียญสหรัฐ เทียบเท่าเงินไทย 36,000,000 บาท


4. Vacheron Constantin Traditionnelle Twin Beat Perpetual Calendar

2019: Vacheron Constantin Traditionnelle Twin Beat Perpetual Calendar

เรือนสุดท้ายนี้คือผู้ชนะการแข่งขันพลังงานสำรองซึ่งก็คือ Vacheron Constantin Traditionnelle Twin Beat Perpetual Calendar ที่สามารถทำได้ถึง 65 วัน หรือ 1,560 ชั่วโมงเปิดตัวมาในปี 2019 ซึ่งมีฟังก์ชั่นซับซ้อนอย่างปฏิทินถาวรพ่วงมาด้วย การที่ Vacheron Constantin หยิบฟังก์ชั่นซับซ้อนอย่างปฏิทินถาวร (Perpetual Calendar) มาร่วมด้วยนั้นถือว่าเป็นแนวคิดที่สมเหตุสมผลมากทีเดียว เพราะการมีพลังงานสำรองยาวนานเป็นประโยชน์ต่อฟังก์ชั่นนี้อย่างมาก ทำให้การรักษาเวลาของนาฬิกาและการเปลี่ยนวันที่ตามปฏิทินเป็นไปได้อย่างต่อเนื่องแม้ว่าจะไม่ได้ถูกสวมใส่ทุกวัน


Braking System ถูกออกแบบให้มีรูปทรงคล้ายหนวดผีเสื้อ คอยกด Impulse ของจักรกลอกตัวใดตัวหนึ่งไว้

กลไกอันชาญฉลาดและทำให้เรือนนี้เหนือกว่าเรือนที่กล่าวมาข้างต้นคือการใช้ Cal. 3610 QP ที่มี Twin Beat ซึ่งหมายถึงระบบความถี่ที่แบ่งออกเป็น 2 โหมด โหมดแรกเรียกว่า Active Mode มีความถี่อยู่ที่ 36,000 vph หรือ 5 Hz โดยนาฬิกาจะทำงานด้วยถี่นี้ก็ต่อเมื่อถูกสวมใส่ และเมื่อถูกถอดออกนาฬิกาจะเปลี่ยนเป็น Stand-by Mode ซึ่งทำงานด้วยความถี่ 8,640 vph หรือ 1.2 Hz เพื่อประหยัดพลังงาน ความถี่สองระดับนี้เกิดจากจักรกลอกสองชิ้นแยกกัน โดยมี Braking System มีปลายลวดแยกออกสองข้างคล้ายหนวดผีเสื้อคอยกด Impulse เพื่อหยุดจักรกลอกตัวใดตัวหนึ่งไว้เสมอ และจักรกลอกที่ปล่อยก็จะแกว่งทำงานเพื่อขับเคลื่อนจักรกลต่อไป อย่างไรก็ตาม นาฬิกาจะสำรองพลังงานได้ถึง 65 วันได้เมื่ออยู่ใน Stand-by Mode ตลอดเวลาเท่านั้น ซึ่งจะหมายความว่าจะไม่ได้หยิบมาใส่เลย แต่ในความเป็นจริงนั้นคงไม่มีใครทำเช่นนั้น และนอกจากนี้หากอยู่ใน Active Mode จะอยู่ได้ 4 วัน ฟังดูอย่างจะน้อยจนน่าตกใจ แต่นาฬิกาจักรกลที่ขับเคลื่อนด้วยความถี่ระดับ 5 Hz ถือเป็นนาฬิกา Hi-Beat ซึ่งส่วนใหญ่มีพลังงานสำรองประมาณ 2 วันหรือ 50 ชั่วโมงเท่านั้น


2019: ด้านหลัง Vacheron Constantin Traditionnelle Twin Beat Perpetual Calendar

เรื่องการประหยัดพลังงานของ Vacheron Constantin เรือนนี้ยังมีผลต่อปฏิทินถาวรอีกด้วย เพราะหากมีฟังก์ชั่นซับซ้อน นาฬิกาย่อมต้องการพลังงานเพิ่มจากปกติ การที่จะทำให้นาฬิกาทำงานต่อไปได้เป็นเวลากว่า 2 เดือนโดยปราศจากการไขลานนั้นเป็นเรื่องที่อาจจะบอกว่าเป็นไปได้ยากมาก และที่น่าทึ่งกว่าเดิมคือ นาฬิกาเรือนนี้มีตลับลานเพียงชิ้นเดียวเท่านั้นซึ่งภายในมีเส้นลวด 2 เส้นทำงานผ่านแกนเดียวกัน แต่ปัญหาที่ว่ามานี้ทางแบรนด์คิดหาทางแก้ไว้เรียบร้อยแล้ว โดยใช้กลไก Jumping ทั้งเข็มวันที่ เดือน และปีอธิกสุรทินซึ่งเป็นกลไกที่จดสิทธิบัตรและถูกออกแบบใหม่ทั้งหมดเพื่อให้สามารถใช้กับระบบเกียร์คู่ นาฬิกาเรือนนี้จึงใช้แรงบิดน้อยลง 4 เท่าและไม่สูญเสียพลังงานเลยแม้แต่น้อยถึงแม้ว่ามีการเปลี่ยนเลขบนหน้าปัดไปพร้อมกันทุกที่


ตัวเรือนของ Vacheron Constantin Traditionnelle Twin Beat Perpetual Calendar ทำจากแพลทตินัมและมีขนาดหน้าปัดอยู่ที่ 42 มม หนา 12.3 มม ถือว่าเป็นนาฬิกาที่มีพลังงานสำรองมากที่สุดแต่ทำออกมาในขนาดมาตรฐานเทียบเท่านาฬิกาทั่วไป ราคาอยู่ที่ 199,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 6,000,000 บาท


-----


การแสวงหาความสมบูรณ์แบบอย่างไม่ลดละทำให้ผู้ผลิตนาฬิกามากมายพยายามสร้างสิ่งมหัศจรรย์ทางกลไกในทุกแง่มุม และศึกครั้งนี้เป็นการประชันความยาวนานของพลังงานสำรองที่เส้นลวดภายในตลับลานจะขับเคลื่อนให้จักรกลทั้งหมดทำงานได้นานแค่ไหน ทั้ง 4 เรือนที่หยิบยกขึ้นมาในบทความนี้คือสุดยอดนาฬิกาที่มีพลังงานสำรองมากที่สุดและเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่านาฬิกาจักรกลยังคงสามารถเอาชนะขีดจำกัดต่าง ๆ ที่คาดไม่ถึงได้ด้วยฝีมือของมนุษย์


อ้างอิง

https://www.desy.de/gna/interpedia/greek_myth/creationMan.html

https://www.alange-soehne.com/en/timepieces/lange31/130039f-white-gold-grey-dial

https://monochrome-watches.com/hands-on-review-lange-sohne-lange-31-days-power-specs-price/

Comments


Featured Posts
Recent Posts
bottom of page