Sky Dweller: นาฬิกาไทม์โซนระดับ Business Class จาก Rolex
เมื่ออุตสาหกรรมการบินขยายตัว การบินพาณิชย์เริ่มเปิดเส้นทางการบินข้ามทวีป นาฬิกา 2 ไทม์โซนกลายเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ช่วยย้ำเตือนเวลาที่ต่างกันไปในแต่ละท้องที่ สำหรับ Rolex แล้ว นาฬิกาที่ถูกสร้างมาเพื่อการบินเชิงพาณิชย์เรือนแรกคือ GMT Master มันถูกออกแบบเพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้กลุ่มกัปตันและนักบินให้สามารถดูเวลาที่ประเทศทางบ้านได้อย่างสะดวกด้วยการเพิ่มเข็มที่ 4 ที่เดินครบรอบได้ใน 24 ชั่วโมงบนหน้าปัด พร้อมกับวงแหวน 24 ชั่วโมงสองสี ที่ผู้ใช้สามารถหมุนกำหนดเวลาให้สอดคล้องกับเข็มที่เพิ่มมาได้อย่างอิสระ และนั่นคือจุดเริ่มต้นแนวคิดของนาฬิกา GMT สุดคลาสสิก สร้างมาตรฐานของนาฬิกา GMT ทั่วโลกในเวลาต่อมา กาลเวลาผ่านไป Rolex รุ่นใหม่ ๆ กลับมาสู่เส้นทางการบินอีกครั้งด้วยนาฬิกาที่ซับซ้อนกว่าเดิม จากแนวคิดที่ว่ายังมีคนอีกกลุ่มที่ต้องการนาฬิกาที่ออกแบบมาเพื่อพวกเขา นั่นก็คือนักธุรกิจที่ต้องเดินทางเป็นประจำ Rolex จึงผุดโครงการนาฬิการุ่นใหม่ Sky Dweller นาฬิกาที่เป็นส่วนผสมระหว่าง Datejust และ GMT Master พร้อมกับความ Complication ในแบบที่ Rolex ไม่คุ้นเคย
อย่างไรก็ตาม การออกแบบ Rolex Sky Dweller จะทำออกมาสมเป็นคู่ใจนักธุรกิจที่เดินทางเป็นประจำหรือไม่นั้น คงต้องทำความรู้จักนาฬิกาคอลเลคชั่นนี้กันก่อนค่ะ
ที่มาของ Sky Dweller
Rolex ได้ฤกษ์เปิดตัวนาฬิกาตระกูลใหม่อย่าง Sky Dweller ในงาน Basel World ปี 2012 ผสมผสานระหว่างความหรูหราและเน้นฟังก์ชั่นการใช้งานที่ใช้ได้จริงทั้ง Annual Calendar หรือปฏิทินรายปี และการบอกเวลาได้ 2 ไทม์โซน (Dual Time zone) เพื่อตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายใหม่ที่ดูจากชื่อรุ่น “Sky Dweller” ก็คงพอจะเดาทางได้
คำว่า “Dweller” แปลว่า ผู้อยู่อาศัย นี่ไม่ใช่คำแปลกใหม่เพราะ Rolex ก็เคยนำมาตั้งชื่อรุ่น Sea Dweller มาแล้ว ซึ่งเป็นรุ่นที่เหมือนมาสืบทอดการผจญโลกใต้น้ำต่อจาก Submariner ที่ไม่ได้เป็นแค่เรือดำน้ำ เพราะ Sea Dweller สามารถดำได้ลึกลงไปกว่านั้น ราวกับว่ามหาสมุทรคือบ้านของตน นี่คือวิถีการตั้งชื่อคอลเลคชั่นนาฬิกาของ Rolex ครั้งนี้ก็เช่นกัน Dweller ที่อยู่บนท้องฟ้า (Sky) ย่อมถูกออกแบบมาเพื่อการเดินทางระยะไกลข้ามโซนเวลา เพราะคนที่ใช้เวลาบนท้องฟ้าไม่ได้มีแค่กัปตันนักบิน แต่ยังมีเหล่าผู้โดยสาร-นักธุรกิจที่ต้องเดินทาง ดังนั้นการตั้งชื่อว่า Sky Dweller จึงสะท้อนถึงคอนเซ็ปต์ Business Travelers ที่ทำให้ต้องมีรูปลักษณ์เข้ากับการเป็นนักธุรกิจ และมีฟังก์ชั่นที่เป็นประโยชน์ต่อการเดินทาง
รูปลักษณ์ของ Sky Dweller คล้ายกับ Datejust ที่ใช้ขอบหยัก มาพร้อมกับสายแบบ Oyster Steel/สายหนังในรุ่นที่ใช้โลหะมีค่า และล่าสุด สาย Oysterflex (ซึ่งดูขัดตาผู้เขียนมาก) อย่างไรก็ตาม Sky Dweller ก็มีขนาดใหญ่กว่าถึง 42มม ทำให้หนักมากพอสมควร ส่วนเรื่องฟังก์ชั่น จริงอยู่ว่าการบอกเวลาได้ 2 ไทม์โซนหรือที่รู้จักกันในชื่อ GMT Master เป็นสิ่งที่ Rolex ทำมาตั้งแต่ปี 1959 แต่สำหรับ Sky Dweller จะมีการจัดวางหน้าปัดแบบใหม่โดยแสดงเวลาไทม์โซนที่ 2 ตรงหน้าแผ่นดิสก์ 24 ชั่วโมงตรงกลางภายในหน้าปัด โดยมีสัญลักษณ์สามเหลี่ยมสีแดงคว่ำลงเพื่อชี้บอกเวลา ต่างจากกลุ่ม GMT Master ที่จะดูเวลาที่จากเข็ม GMT ที่ชี้ไปยังขอบนาฬิกา นอกจากนี้ แม้ว่า Annual Calendar หรือปฏิทินประจำปีจะเป็นฟังก์ชั่นที่มีประโยชน์และถูกใช้อย่างแพร่หลาย แต่การที่ Rolex หันมาทำนาฬิกาฟังก์ชั่นซับซ้อน (Complication) ถือเป็นเรื่องใหญ่มากทีเดียว เพราะ Rolex ไม่ใช่แบรนด์ที่มีความถนัดทางด้านนี้ นาฬิกาเครื่อง In-House ที่เคยซับซ้อนที่สุด เห็นจะมีเพียง Rolex Yacht Master II ซึ่งก็มีฟังก์ชั่นการนับเวลาถอยหลังแบบ Regatta ที่ใช้งานยากพอสมควร
กลไกใหม่เพื่อ Sky Dweller
ตั้งแต่รุ่นเปิดตัวจนถึงรุ่นปัจจุบัน Sky Dweller ยังคงใช้ Cal.9001 มีชิ้นส่วน 380 ชิ้นและมีการจดสิทธิบัตรถึง 7 อย่างด้วยกัน สำรองพลังงาน 72 ชั่วโมง มีความถี่ 28,800 bph และกันน้ำลึก 100ม แต่สิ่งสำคัญคือ นอกจากเป็นนาฬิกาที่บอกเวลาสองโซนแล้ว ยังมีฟังก์ชั่น Annual Calendar เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของ Rolex
เมื่อพูดถึงฟังก์ชั่น Annual Calendar คุณอาจจะคาดหวังว่านาฬิกาที่มีฟังก์ชั่นนี้ไม่ต้องปรับวันที่เลยจนกว่าจะถึง Leap Year (ปีอธิกสุรธิน หรือปีที่มี 366 วัน) แต่ความจริง Annual Calendar ต้องปรับทุกวันที่ 1 มีนาคม Annual Calendar ทำให้นาฬิกาสามารถเปลี่ยนวันที่ได้อย่างถูกต้องสำหรับเดือนที่มี 30 และ 31 วันเท่านั้น แต่ไม่สามารถทำได้กับเดือนกุมภาพันธ์ที่มี 28 และ 29 วัน เราจึงต้องตั้งค่าวันที่ใหม่ในวันที่ 1 มีนาคมของทุก ๆ ปี นี่อาจจะเป็นสาเหตุทีทำให้ถูกเรียกว่า Annual ซึ่งหมายถึง ประจำทุกปี แต่หากต้องการนาฬิกาที่ปรับปฏิทินทุก 4 ปี คุณต้องมองหานาฬิกาที่มีกลไลลึกไปอีกขั้น ที่เรียกว่า 4 year calendar ซึ่งเท่าที่เรารู้จัก มีแต่ Breitling Montbrillant Olympus 1461 เท่านั้นที่พอจะจับต้องได้ โดยนาฬิการะบบนี้จะแยกเดือนที่มี 30, 31 วัน รวมถึงเดือนกุมภาพันธ์ที่มี 28 วันได้ แต่ใน Leap Year ที่เดือนกุมภาพันธ์จะมี 29 วันนั้น ต้องปรับวันที่เอาใหม่เอง ซึ่งเป็นที่มาของตัวเลข 1461 หมายถึงปฏิทินถูกต้องได้ถึง 1461 วัน
และหากอยากไปไกลกว่านั้น ก็ต้องเป็น Perpetual Calendar หรือ ปฏิทินถาวร ที่สามารถเปลี่ยนวันที่ได้เองทุกเดือนโดยเฉพาะเดือนกุมภาพันธ์เจ้าปัญหา โดยระบบจะสามารถรู้ว่าปีนี้มี 28 หรือ 29 วัน ดังนั้นนาฬิกาที่มี Perpetual Calendar จะไม่ต้องตั้งค่าใหม่เลย 100 ปี หรือจนถึงปี 2100 อย่างไรก็ตาม นั่นยังคงไม่ใช่นโยบายของ Rolex เพราะในอดีตที่ผ่านมา นาฬิกา Rolex ที่มีฟังก์ชั่นปฏิทินแบบ Triple Calendar ซึ่งก็ไม่ถือว่าซับซ้อน Rolex ก็ใช้เครื่องของผู้ผลิตรายอื่นแทน
กลับมาที่ Sky Dweller ระบบปฏิทินใหม่ใช้กลไกที่เรียกว่า “SAROS” ทำงานผ่านหลักการที่เรียบง่าย โดยเพิ่มจำนวนซี่ฟันเฟือง 2 ซี่ และเพิ่มเฟืองเกียร์มาอีก 4 ตัวลงไปในเครื่องรุ่นที่มีวันที่ จำนวนซี่ฟันเฟืองของ Satellite Wheel กับ Planetary Wheel ถูกคำนวณให้ทุก ๆ เดือนที่มี 30 วัน จะมีการผลักฟันเฟืองของ Satellite Wheel 1 ครั้ง ทำให้แผ่นดิสก์วันที่เลื่อนข้ามวันที่ 31 ไปเป็นวันที่ 1 ทันที นอกจากนี้สิ่งที่สะท้อนความคิดอนุรักษ์ Datejust ของ Sky Dweller คือการซ่อนวิธีการบอกเดือนไว้ได้อย่างแยบยลโดยนำไปรวมกับวิธีการนับ 12 ชม/12 เดือน แล้วซ่อนช่องสีแดงไว้ใต้หลักขีด จึงทำให้บอกเดือนได้โดย 1 นาฬิกา=มกราคม และ 2 นาฬิกา= กุมภาพันธ์ ไล่ไปตามลำดับจนถึงเลข 12 ก็จะหมายถึงเดือนธันวาคมนั่นเอง
การอ่านเวลาและการตั้งค่า
หน้าปัดของ Sky Dweller แบ่งออกเป็น 2 ส่วนได้แก่ หน้าปัดเล็ก 24 ชั่วโมง ใช้ดู Reference Time หมายถึงเวลาของประเทศที่อยู่อาศัยของเราซึ่งจะบอกเวลาครอบรอบแบบ 24 ชั่วโมง ดังนั้นมันจึงสามารถบอกเวลากลางวันและกลางคืนได้ด้วย ส่วนเข็มชั่วโมงปกติจะใช้ดู Local Time หรือเวลาท้องถิ่นของประเทศที่เราไปเยือนในขณะนั้น หรือคุณจะตั้งให้ตรงกับเวลา Reference Time ก็ได้
สิ่งที่โดดเด่นที่สุดของนาฬิกาตระกูลนี้คือทำขอบหยักที่เป็นเอกลักษณ์ของ Datejust/Day-Date เอามาทำเป็น Command Ring เพื่อใช้ในการปรับตั้งค่าเวลาได้ 4 อย่างผ่านการหมุน 3 ตำแหน่ง ประกอบด้วย วันที่และเดือน, Local time, และ Reference time โดยการตั้งค่าเวลาทุกส่วนจะต้องเริ่มจาก Reference time ก่อนเสมอเพื่อไม่เป็นการตั้งค่าซ้ำซ้อน
ขั้นตอนการตั้งค่า Rolex Sky Dweller
ข้อควรจำของการตั้งค่า Sky Dweller : ขอบ Ring Command มี 4 ตำแหน่ง (0-3) และเม็ดมะยมมี 3 ตำแหน่ง (0-2) ตามภาพ โดยก่อนการตั้งค่าให้หมุน Command Ring ตามเข็มนาฬิกา กลับไปอยู่ที่ตำแหน่งที่ 0 เสมอ ส่วนเม็ดมะยมต้องคลายเกลียวแบบทวนเข็มนาฬิกาออกมาแล้วดึงไปตำแหน่งที่ 2 ถึงจะเข้าสู่การตั้งค่า (การคลายเกลียวเม็ดมะยมออกมาหมด แล้วไม่ดึงต่อ จะถือว่าอยู่ตำแหน่ง 1 ซึ่งใช้เพื่อการไขลานเท่านั้น)
การตั้งค่า Reference Time
การตั้งค่า Destination Time / Local Time
การตั้งค่าวันที่และเดือน
เมื่อตั้งค่าครบทุกส่วนแล้ว
Sky Dweller กับการรักษาฟอร์มมากกว่าการคำนึงถึงฟังก์ชั่น
จากที่กล่าวมาข้างต้นนั้น แม้ว่า Sky Dweller จะดูครบพร้อมทั้งดีไซน์และฟังก์ชั่นที่บอกเวลา 2 ไทม์โซน แถมยังรักษาเอกลักษณ์ของ Rolex Datejust ไว้ได้อย่างน่าทึ่ง แต่สุดท้ายแล้วนาฬิการุ่นนี้อาจจะไม่เหมาะสำหรับ Business Travelers เนื่องจากว่าสิ่งสำคัญที่สุดในนาฬิกาที่บอกเวลา 2 ไทม์โซน คือการสร้างวิธีเปลี่ยนไทม์โซนให้ง่ายและสะดวกแก่ผู้ใช้งานมากที่สุด เนื่องจากการเดินทางที่บ่อยและเปลี่ยนเวลาไปมา ไม่ควรจะต้องถอดนาฬิกาออกมาตั้ง เมื่อเทียบกับ GMT Master ที่เปลี่ยนไทม์โซนที่ 2 ได้อย่างง่ายดายเพียงหมุน Bezel ตามเวลา +/- ของประเทศนั้น ๆ หรือเทียบกับ Patek Phillippe Aquanaut 5164 Travel Time ยอดนิยมที่นั่งอยู่ระดับ First Class ก็เปลี่ยนเวลาไทม์โซนที่ 2 โดยการกดปุ่มลดและเพิ่มเวลาของเข็ม ทั้งสองรุ่นนี้ปรับเวลาได้ขณะที่ใส่อยู่บนข้อมือ ต่างจาก Sky Dweller ที่ต้องถอดออกมาและทำการหมุนขอบ Command Ring ซึ่งต้องจำอีกว่าแต่ละฟังก์ชั่นอยู่ตำแหน่งใด ทั้งหมดนี้ทำให้ฟังก์ชั่น Dual Timezone ของ Sky Dweller ตกเป็นรองรุ่นที่มีอยู่ก่อนแล้วอย่างไม่มีข้อโต้แย้ง
ส่วนข้อดีคือการรักษาภาพลักษณ์ของ Rolex Datejust ขนาด Jumbo Size ไว้ได้พร้อมไปกับปฏิทิน Annual Calendar อันแสนแยบยล หากตัดฟังก์ชั่น Time Zone/Command Ring ออกแล้วทำให้ นาฬิกา Oyster Case เรือนนี้บางและเล็กลง และยังคงบอกวันที่แบบ Annual Calendar ได้คงจะน่าสนใจไม่น้อย เพราะ Rolex ยังมีโอกาสเล่นกับขอบเรียบ ขอบเพชร และขอบอื่น ๆ ได้อีก โดยไม่ต้องทำให้ผู้ใช้อึดอัดกับฟังก์ชั่นที่ไม่ค่อยมีคนใช้ของมัน
ดังนั้น Sky Dweller อาจจะเหมาะกับข้อมือของคุณพ่อที่มีลูกเรียนอยู่ต่างประเทศ หรือเดินทางเป็นครั้งคราว เพื่อดูเวลาของที่นั่นเทียบกับเวลาที่บ้าน เพราะหากต้องถอดและตั้งค่าไทม์โซนที่ 2 ทุกเที่ยวบิน อาจกลายเป็นเสียเวลามากกว่ารักษาเวลา
4 generations ของ Sky Dweller
เมื่อทราบถึงฟังก์ชั่นและข้อจำกัดของ Sky Dweller แล้ว การเปิดตัวแต่ละครั้งตั้งแต่ครั้งแรกจนถึงปีล่าสุดก็น่าสนใจ เพราะเหมือน Rolex กำลังปรับหาทางเพื่อให้นาฬิการุ่นนี้คงอยู่ในคอลเลคชั่น
ในงาน Basel World 2012 Rolex เปิดตัว Sky Dweller รุ่นแรกออกมาพร้อมกัน 3 แบบด้วยกัน ตัวเรือนทำจากทองคำ 18K เท่านั้น สองรุ่นแรกคือ Yellow gold หลักเวลาเป็นเลขอารบิค และ White gold หลักโรมัน ทั้งคู่มาพร้อมสาย Oyster และรุ่น Pink gold ใช้หลักเลขอารบิคแต่ใช้สายหนังจระเข้สีน้ำตาล ช่องแสดงเดือนเป็นสีดำและขาว
ปี 2014 Sky Dweller ก็กลับมาอีกครั้ง และมี 3 เวอร์ชั่นเช่นเคย แต่มีการสลับสายเกิดขึ้น โดย Pink gold ใช้สายเต้าหู้ ส่วนที่เหลือเปลี่ยนมาใช้สายหนังจระเข้แทน แต่ต่างกันตรงที่ รุ่น Yellow gold ใช้สายหนังสีน้ำตาล และ White gold ใช้สายสีดำ นอกจากนี้ สีหน้าปัดจะเป็นสีเดียวกับตัวเรือน ยกเว้น White gold ที่ออกมาในปี 2014 มีหน้าปัดเป็นสีดำเหมือนสายนาฬิกา รวมถึงใช้หลักอารบิค ในขณะที่ 2 รุ่นที่เหลือกลับใช้หลักโรมัน ช่องแสดงเดือนกลายเป็นสีแดงตั้งแต่รุ่นนี้เป็นต้นไป
ต่อมาว่างเว้นไป 3 ปีจึงกลับมาพร้อมนาฬิกาถึง 6 รุ่นในปี 2017 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่นำโลหะประจำชาติอย่าง 904L มาใช้กับรุ่นนี้ ซึ่ง Rolex ยอมหั่นราคารุ่น 904L ให้ต่ำกว่ารุ่นทองล้วนเกือบครึ่งเพื่อวัดความต้องการที่แท้จริง แต่ยังออกรุ่น Rolesor (นาฬิกาที่ผสมสตีลและทองคำ หรืออาจจะเรียกว่า 2 กษัตริย์) Yellow Gold และมีการเปลี่ยนหลักเวลาเป็นหลักขีดและปรับความยาวเข็มเล็กน้อยเพื่อให้อ่านง่ายขึ้น
และล่าสุดปี 2020 เมื่อเดือนกันยายน Sky Dweller ก็กลับมาอีกครั้งพ่วงกันมา 6 โมเดล พิเศษกว่าเดิมด้วยสายนาฬิกา Oysterflex สีดำ สายนาฬิกานี้ไม่ใช่สายยางทั้งตัว แต่ไส้ในแทรกโลหะผสมระหว่างไททาเนียมและนิกเกิลอัลลอย ซึ่งออกแบบให้มีความยืดหยุ่นและใส่สบาย อย่างไรก็ตาม ความจริงแล้วสายนี้ไม่ใช่สายใหม่เอี่ยม เพราะใช้มานานตั้งแต่รุ่น Yacht Master Everose Gold ขอบ Ceramic ซึ่ง Rolex มักจะเลือกจับคู่สาย Oysterflex กับตัวเรือนที่ทำจากโลหะมีค่าเท่านั้น Sky Dweller รอบปีนี้ ก็มากับตัวเรือน Yellow gold และ Everose gold โดยแต่ละรุ่นจะมีหน้าปัดให้เลือก 3 สี ได้แก่ สีแชมเปญ สีดำ และสีขาว สำหรับรุ่น Yellow gold ส่วน Everose gold จะมีหน้าปัดสีขาว สีดำ และสีช็อคโกแล็ต
---------
จากข้อมูลทั้งหมดนี้ ทำให้เห็นว่า ถึง Rolex Sky Dweller จะมีฟังก์ชั่นที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้ทั้ง Dual Time Zone และ Annual Calendar ที่หวังว่าจะตอบโจทย์ Business Travelers แต่เพราะการออกแบบการตั้งค่าที่ซับซ้อนเกินกว่าที่จะเรียกว่าสะดวกต่อนักธุรกิจที่เดินทางอยู่บ่อยครั้ง ทำให้นาฬิการุ่นนี้เป็นได้แค่ Dress Watch เรือนหรู ใส่ดูเวลาที่สองสำหรับผู้ที่มีคนสำคัญอยู่ต่างแดน และไม่ได้เดินทางเป็นประจำ จุดนี้ยังต้องคงดูกันต่อไปว่าจุดยืนของ Sky Dweller จะเป็นไปในทิศทางไหน และ Rolex จะแก้ปัญหาเรื่องการตั้งค่าหรือไม่อย่างไร เพราะไม่เช่นนั้นกลุ่มเป้าหมายที่แบรนด์วางไว้ย่อมเลือนลางและไม่ชัดเจนเช่นนี้ต่อไป
อ้างอิง
https://beckertime.com/blog/history-of-the-rolex-sky-dweller/
Comentarios