Rolex Sea Dweller Deepsea: Part 2: การผจญภัยครั้งแรกกับ Rolex Deep Sea Special 1960
สืบเนื่องจากบทความภาคแรก เราค้างกันไว้ที่การเปิดเผยหน้าตาของ Rolex Deep Sea Special ทั้ง 3 เรือน แต่มีตัวจริงเพียงหนึ่งเดียวใน 3 เรือนนี้เท่านั้นที่ได้ลงไปยัง Challenger Deep ก้นมหาสมุทรที่ลึกที่สุดในโลก ตั้งแต่ปี 1960 จนปัจจุบันนี้มีเพียงแค่ 2 ครั้งในประวัติกาลเท่านั้นที่มนุษย์ได้ลงไปสำรวจ Challenger Deep และ Rolex ก็ยังได้เข้าร่วมในปฏิบัติการทั้ง 2 ครั้ง เพื่อพิสูจน์สมรรถนะนาฬิกาดำน้ำของตน
แต่ขนาดสัตว์ทะเลอย่างปลาหมึกขนาดเล็กยังดำรงชีวิตอยู่ได้ที่ระดับความลึกประมาณ 6,000 เมตร แล้วเพราะเหตุใด Rolex ถึงไปได้ไกลกว่านั้น Rolex ได้เลือกใช้อาวุธเด็ดใดหรือไม่ ที่เปลี่ยนให้นาฬิกาข้อมือธรรมดาๆให้กลายเป็นนาฬิกาที่สามารถดำดิ่งไปที่ความลึกระดับหมื่นเมตรใต้มหาสมุทรได้ โดยที่กระจกหน้าปัดไม่แตกละเอียดเพราะแรงดันใต้น้ำหรือมีน้ำเข้าเต็มตัวเรือน วันนี้ถึงเวลาที่เราจะมาชมหน้าตาและคุณสมบัติของ Rolex Deep Sea Special แล้วค่ะ
A. Rolex Deep Sea Special No.1:
Deep Sea Special หรือ DSSเรือนแรกนี้ถูกสลักด้วยคำว่า “Rolex Oyster Deep Sea Special No. 1” ที่ฝาหลัง ตัวเรือนแบบ Oyster ขนาด 42.7 มม. ตัวเรือนเป็นแบบ Two-tone ทำจากสองวัสดุคือ Stainless Steel และทองคำ หน้าปัดสีดำและกระจกหน้าปัดทรงครึ่งวงกลมแบบหนา ปี 1953 เป็นครั้งแรกที่ Rolex ได้ส่งนาฬิกาเรือนแรกลงไปทำภารกิจดำน้ำลึกระดับนี้ Rolex ไม่ทราบเลยว่ากระจกหน้าปัดนั่นจะทนต่อแรงดันน้ำมหาศาลได้มากเพียงใด แต่ด้วยหลักคิดแบบ “Over Engineer” ที่ Rolex ยึดถือตลอดมา จึงมีการออกแบบกระจกหน้าปัด DSS ให้หนาเป็นพิเศษ หากนาฬิกาเรือนนี้ต้องมีความสามารถกันน้ำได้ที่ 11,000 เมตร Rolex จะทำเผื่อไว้เป็นระดับ 20,000 เมตรตามบริบท ‘เหลือดีกว่าขาด’ แล้วในยุคนั้น ยังไม่มีกระจก Sapphire ที่มีค่าความแข็งสูง มีแต่ Plexiglass เป็นวัสดุเดียวที่ใช้ทำกระจกหน้าปัดนาฬิกา ซึ่งก็คือ พลาสติกสังเคราะห์ชนิดหนึ่ง มีคุณสมบัติเรื่องความยืดหยุ่น Rolex ต้องออกแบบกระจกหน้าปัดนี้ให้หนาเพื่อรับมือกับความดัน อย่างไรก็ตาม ความหนาของกระจกหน้าปัดใน DSS No.1 เป็นแบบ Low Glass ที่กระจกจะบางกว่าและมีลักษณะที่ต่างออกไปเล็กน้อยเมื่อเทียบกับตัวต้นแบบ No.3 และ No.5 ที่ถูกทำขึ้นมาในภายหลัง เนื่องจาก DSS No.1 ถูกทดสอบใต้น้ำลึกเพียง 3,150 เมตรเท่านั้น ซึ่งถ้าเทียบกับสมัยปัจจุบัน Rolex Sea Dweller Deepsea รุ่นปกติที่วางจำหน่ายกัน ก็สามารถผ่านการทดสอบกันน้ำได้ลึกได้ประมาณนี้ค่ะ
เมื่อพูดถึงรูปทรงของกระจกหน้าปัด ถึงแม้ว่ามันจะถูกออกแบบมาให้มีลักษณะคล้ายกับกระจกหน้าต่างเรือดำน้ำ Trieste แต่ด้วยรูปทรงกลมของหน้าปัดนาฬิกา เป็นเหมือนข้อบังคับหนึ่งที่ต้องออกแบบให้กระจกหน้าปัดเป็นทรงครึ่งวงกลมที่มีความโค้งมน เพราะถ้าหากมันได้ถูกตัดตรงเป็นทรงกระบอกเหมือนกระป๋องน้ำอัดลม จะส่งผลให้อ่านเวลาได้ยากมาก ผู้สวมใส่จะอ่านเวลาได้จากมุมตรงของหน้าปัดเพียงมุมเดียวเท่านั้น แถมขอบกระจกก็จะคมอีกด้วย
คราวนี้เรามาดูเม็ดมะยมจาก Stainless Steel ที่ยื่นออกมาเป็นแท่ง ต่างจากเม็ดมะยมขนาดปกติของนาฬิกาทั่วไป เหตุผลหนึ่งเป็นเพราะ DSS เป็นนาฬิการะบบไขลานจึงทำให้มันมีเม็ดมะยมที่ใหญ่มากกว่าปกติเพื่อให้หมุนไขลานได้ง่าย นอกจากนี้ DSS ถูกออกแบบมาเป็นนาฬิกาสำหรับนักประดาน้ำ ทุกท่านคงทราบกันดีอยู่แล้วว่าโดยธรรมชาติของชุดดำน้ำนั่นเทอะทะแค่ไหน เม็ดมะยมจึงถูกออกแบบมาให้นักดำน้ำไขลานได้สะดวก ถึงแม้ว่าจะใส่ถุงมืออันหนาเตอะไว้อยู่ และเม็ดมะยมใน DSS มีปะเก็นโลหะ(Metal Gasket) หรือวงแหวนโลหะตรงเม็ดมะยมที่ถูกติดตั้งไว้เพื่อป้องกันด้านข้างของตัวเรือนให้ไม่ได้รับความเสียหายจากการไขลาน หากวงแหวนนี้เริ่มสึกหรอจากการไขลาน การเปลี่ยนวงแหวนนั่นง่ายและประหยัดกว่าการเปลี่ยนตัวเรือนแน่นอนค่ะ ดังนั้นนาฬิกาไขลานสมัยก่อนจึงนิยมใช้วงแหวนโลหะรองระหว่างเม็ดมะยมและตัวเรือนไว้นั่นเองค่ะ
ตัดภาพมาที่ปัจจุบันนี้ นาฬิกาทั่วไปหรือแม้แต่นาฬิกาบนข้อมือที่ท่านสวมใส่อยู่ตอนนี้จะไม่มีวงแหวนดังกล่าวที่เม็ดมะยม เนื่องจากมีนวัตกรรมใหม่เปลี่ยนไปใช้วงแหวนที่ทำขึ้นจากยางสังเคราะห์ที่ถูกประกอบไว้อยู่ภายในเม็ดมะยมแทน นอกจากมันจะมีต้นทุนที่ย่อมเยากว่าวงแหวนโลหะ แหวนยางสังเคราะห์ยังสามารถกันน้ำได้ดีกว่าอีกด้วย มากไปกว่านั้น ยุคนี้กลไกนาฬิกาถูกเปลี่ยนมาใช้เครื่อง Quartz หรือระบบขึ้นลานอัตโนมัติที่ผู้สวมใส่ไม่จำเป็นต้องไขลานอีกแล้ว วงแหวนโลหะจึงกลายเป็นเหมือนอวัยวะที่ไม่จำเป็นจนถูกตัดออกไป
กลไกภายในเป็นระบบไขลาน Caliber 1000 Movement No.419251 DSS No.1 มีความสามารถกันน้ำได้ที่ระดับความลึกราวๆ 3,150 เมตรที่ทำให้มันสามารถลงไปดำดิ่งกับเรือดำน้ำ Trieste ในปี 1953 ได้ บนหน้าปัดมีสัญลักษณ์มงกุฎอยู่เหนือเข็มและโลโก้ Rolex ใต้เข็ม หลักที่ใช้มีทั้งรูปทรงกลม รูปทรงสามเหลี่ยมและแบบขีดเคลือบเรืองแสง เข็มชั่วโมงและนาทีจากทองผสม มีลักษณะปลายแหลมและมีเข็มวินาทีแบบกวาดทรงลูกศรธนู ทุกเข็มเป็นแบบเรืองแสง ส่วนสายที่ใช้เป็นแบบ Oyster ทำจาก Stainless Steel และมีข้อตรงกลางทำจากทอง 18k ใช้เข็มขัดสายแบบบานพับ Christie’s ได้นำ Rolex Deep Sea Special No.1 ออกประมูลในปี 2005 ในราคา CHF322,400 หรือราว ๆ 10.7 ล้านบาท
B. Rolex Deep Sea Special No.3:
Rolex พิเศษเรือนนี้ ปัจจุบันนี้ถูกเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ Smithsonian ในวอชิงตัน ดีซี เรือนนี้เป็น DSS ที่ได้ถูกติดไว้กับเรือ Trieste และลงไปดำน้ำที่จุด Challenger Deep พร้อมกับ Piccard และ Walsh ในปี 1960 Rolex Deep Sea Special No.3 ตัวเรือนจาก Stainless Steel และทอง 18k แบบ Two-tone เหมือน DSS No.1 ขนาด 42.7 มม. ความหนาโดยรวมอยู่ที่ 36 มม. ถ้าความหนานี้ถูกชำแหละออกมาเป็นส่วนๆ เราก็จะได้ค้นพบว่า แค่ตัวกระจกหน้าปัดของนาฬิกานี้ก็ปาไป 18 มม. แล้ว กระจกหน้าปัดนี้เป็นเวอร์ชัน “High glass” ที่มีความหนากว่าเวอร์ชันแรก เพราะ เจ้า DSS No.3 จะต้องถูกนำไปเผชิญหน้ากับแรงดันมหาศาลกว่าสิบตันต่อตารางนิ้ว ที่ระดับความลึก 10,908 เมตรใต้มหาสมุทร DSS No.3 มาพร้อมเม็ดมะยมรูปแบบใหม่ที่ถูกออกแบบมาให้กันน้ำได้ลึกกว่าเดิม โดยมีวงแหวนทองคำที่บางกว่าเดิม คั่นอยู่ระหว่างตัวเรือนและเม็ดมะยม องค์ประกอบบนหน้าปัดทั้งเข็ม หลักชั่วโมง โลโก้ที่ถูกพิมพ์ไว้อยู่บนหน้าปัดเหมือนกับใน DSS No.1 ทั้งหมด ยกเว้นสีของหน้าปัด ที่เป็นสีขาว สายที่ใช้เป็นแบบ Oyster ทำจาก Stainless Steel ข้อตรงกลางของสายทำจากทอง 18k กลไกภายในยังคงใช้ Caliber 1000 ระบบไขลานเหมือนเช่นเดิม
C. Rolex Deep Sea Special No.5:
เป็น DSS ตัวถัดมาที่ Rolex ผลิตขึ้นหลังจากรุ่น No.3 ที่ลงไปยังก้นมหาสมุทรที่ลึกที่สุดในโลก ถ้าหากมอง DSS No.5 เรือนนี้จากมุมตรงด้านหน้า คงจะคิดว่าเป็น DSS No.1 เพราะ ทั้งสีหน้าปัดดำ องค์ประกอบต่างๆ เช่น เข็มและหลักชั่วโมง ก็ดูคล้ายกันราวกับถูกโคลนนิ่งมาเสียอย่างนั้น แต่เมื่อเทียบจากมุมด้านข้าง ก็ต้องร้องคำว่า “อ๋อ” ออกมา เพราะว่า กระจกหน้าปัดของ DSS No.5 เป็นรูปแบบ “High Glass” หรือแบบหนาพิเศษเหมือนกับกระจกหน้าปัดของ DSS No.3 เพราะทั้งสองถูกออกแบบมาให้กันน้ำที่ระดับความลึกมากกว่าหนึ่งหมื่นเมตร และ DSS No.5 ยังคงใช้กลไกไขลาน Caliber 1000 Movement No. 419343 สุดท้ายแล้ว DSS No.5 ก็ได้ถูกขายโดยการประมูลของ Christie’s อีกเช่นเคย ในราคา 113,853 ดอลลาร์สหัรัฐหรือประมาณ 3,419,860 บาท
ทั้งสามรุ่นที่กล่าวมาทั้งหมดนี้คือ Rolex Deep Sea Special รุ่นต้นแบบที่ได้ทำออกมาและใช้งานได้จริง นอกจากนี้ Rolex ได้กล่าวไว้ว่านาฬิกาตัวต้นแบบ ก่อนหน้าที่จะผลิต No.1 ซึ่งนำมาใช้งานจริงถูกผลิตขึ้นมาเพียงสองเรือน แต่ก็ใช้งานได้ปกติดี และหนึ่งในสองเรือนนั้น เจ้าหน้าที่ของ Rolex ได้มอบมันให้กับ Jacques Piccard แต่ก็มีเสียงลือว่าความจริงแล้ว Rolex อาจจะได้ทำการทดลองซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนมีตัวต้นแบบถึง 7 - 8 เรือนด้วยกัน ข้อสันนิษฐานนี้เกิดจาก ตัวเลข Serial ของ Caliber 1000 ที่ถูกใช้ใน DSS No.1 คือ 419251 และ DSS No.5 คือ 419343 มันต่างกันถึง 92 เลข จึงมีข่าวลือนี้ออกมา มากไปกว่านั้นยังมี Rolex Deep Sea Special รุ่น Display หรือรุ่นที่ถูกผลิตออกมาเพื่อการจัดแสดง ได้ถูกผลิตขึ้นมาในรหัส “No.9” เป็นต้นไป สาเหตุนี้เป็นอีกหนึ่งข้อสนับสนุนว่าแท้จริงแล้วมี DSS ตัวต้นแบบประมาณ 8 เรือน อย่างไรก็ตามยังไม่มีหลักฐานเพิ่มเติมมาสนับสนุนข้อสันนิษฐานนี้อย่างแน่ชัด
หลังจากความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ของเรือดำน้ำ Trieste และ Rolex ในปี 1960 Rolex ก็ได้เริ่มผลิต Rolex Deep Sea Special เวอร์ชัน Display สำหรับจัดแสดงโชว์ โดยเริ่มต้นผลิตตั้งแต่รหัส “No.9” เป็นต้นไป โดยมีตัวต้นแบบ DSS No.3 และ DSS No.5 เป็นแม่แบบให้กับตัวจัดแสดงโชว์เหล่านี้ แต่ข้อแตกต่างหลักๆระหว่าง รุ่นต้นแบบกับรุ่นจัดแสดงโชว์ คือ รุ่นจัดแสดงโชว์จะไม่มีปะเก็นโลหะคั่นระหว่างตัวเรือนและเม็ดมะยมแบบในรุ่นต้นแบบ DSS No.1, 3 และ 5 ลักษณะเม็ดมะยมของรุ่นสำหรับจัดโชว์จะสั้นกว่า และสุดท้าย ลักษณะของการสลักที่ฝาหลังจะต่างกัน ในรุ่นต้นแบบจะถูกสลักว่า “Rolex Oyster No.X Deep Sea Special” แต่ในรุ่นสำหรับจัดโชว์ ถูกสลักอย่างง่ายๆด้วยรหัสของตัวเรือน ความสามารถกันน้ำและวันที่ 23 มกราคม ค.ศ.1960 เป็นวันแห่งการดำน้ำครั้งประวัติศาสตร์ครั้งนี้ ตัวจัดแสดงโชว์ทุกเรือนจะถูกสลักด้วยวันที่นี้ ตามภาพด้านล่างของ Rolex Deep Sea Special No.9
ตั้งแต่หลังปี 1960 Rolex ก็ได้เดินหน้าผลิตนาฬิกา Rolex Deep Sea Special ตัวจัดแสดงโชว์เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองและส่งไปทั่วโลกเพื่อจัดแสดงโชว์และเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดชั้นเยี่ยม นอกจากนี้ บางรุ่น เช่น Rolex Deep Sea Special No.32 ที่ตัวเรือนทำจาก Stainless Steel ใช้กลไกภายในเป็นระบบขึ้นลานอัตโนมัติ Rolex Caliber 1570 และ DSS No.32 เรือนนี้ได้ถูกขายที่การประมูลของ Antiquorum ในปี 2003 ไปในราคา CHF 124,500 หรือ 4,156,456 บาท
ของขวัญจากก้นมหาสมุทร
ชื่อเสียงอันโด่งดังและการประชาสัมพันธ์ที่ดีเยี่ยมไม่ใช่สิ่งเดียวที่ Rolex ได้จากการดำน้ำครั้งประวัติศาสตร์นี้ แต่บทเรียนที่นับว่าเป็นของขวัญชิ้นพิเศษจากก้นมหาสมุทรที่ Rolex ได้คือแนวคิดการพัฒนาให้นาฬิกากันน้ำของตนมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม แนวคิดที่ได้จาก Rolex Deep Sea Special คือ ระบบล็อคหลายชั้นของเม็ดมะยม(Multiple Locks) ที่ช่วยป้องกันไม่ให้น้ำไหลซึมเข้าตัวเรือนได้ Rolex ได้พัฒนากลไกของเม็ดมะยมจากแนวคิดดังกล่าวจนเกิดเป็น เม็ดมะยมรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “Triplock” ที่ถูกนำไปใช้ในเหล่านาฬิกาสำหรับดำน้ำของ Rolex
แต่ถ้าย้อนไปยังปี 1926 เราจะได้กลับไปสู่ยุคที่ Rolex ได้เปิดตัวนาฬิกาที่มีความสามารถกันน้ำได้เรือนแรกของโลก “Rolex Oyster” มาพร้อมกับเม็ดมะยมแบบขันเกลียว (Screw-down Winding Crown) ที่สามารถป้องกันทั้งน้ำและฝุ่นไม่ให้เข้าไปยังตัวเรือนและระบบกลไกภายในของนาฬิกา ประกอบด้วยเม็ดประยมที่สวมปะเก็นโลหะหรือวงแหวนเล็ก ๆ ที่เป็นเหมือนกำแพงกั้นเมื่อโลหะสองชิ้นต้องมาประกบกันและยังเป็นตัวช่วยป้องกันน้ำเข้า
ต่อมา เม็ดมะยมของ Rolex ก็ได้มีวิวัฒนาการอีกเรื่อยมา จนกระทั่งปี 1953 Rolex ได้ออกแบบเม็ดมะยมแบบ Twinlock ให้นำมาใช้กับ Rolex Submariner สิ่งที่เปลี่ยนไปจากเม็ดมะยมแบบขันเกลียว รุ่นแรกคือ วัสดุที่ใช้ทำปะเก็น ไม่ใช่โลหะ อีกต่อไป แต่ในเม็ดมะยมแบบ Twinlock จะมี ปะเก็นยางสองวง ทำขึ้นจากวัสดุสังเคราะห์ ทำให้เกิดเป็นด่านกั้น 2 จุดที่ไม่ให้น้ำรั่วซึมเข้า เม็ดมะยมแบบ Twinlock สามารถกันน้ำได้ที่ระดับความลึก 100 เมตร
ต่อมา ในปี 1970 นาฬิกากันน้ำของ Rolex ก็ไปสู่อีกขั้น โดยความสามารถกันน้ำระดับลึกกว่าเดิมที่ 300 เมตรด้วยเม็ดมะยมแบบ Triplock ที่ถูกใช้ครั้งแรกกับ Rolex Sea-Dweller ในเม็ดมะยมแบบ Triplock จะประกอบด้วย O-ring gaskets ทำหน้าที่เป็นยางกันน้ำ ทั้งหมด 5 วง (ตามภาพด้านล่าง) ส่งผลให้นาฬิกามีประสิทธิภาพในการกันน้ำที่สูงขึ้น
Rolex Deep Sea Special เครื่องมือการตลาดชั้นเยี่ยม
ถึงแม้การดำน้ำครั้งประวัติศาสตร์นี้จะผ่านมาเป็นเวลากว่าครึ่งศตวรรษแล้ว Rolex ก็ยังใช้ความสำเร็จครั้งนี้เป็นอาวุธชิ้นสำคัญในกลยุทธ์ทางการตลาดของแบรนด์เพื่อแสดงให้เห็นถึงหัตถศิลป์และความชำนาญในการผลิตนาฬิกากันน้ำชั้นยอด โดยการส่ง DSS รุ่น Display ไปจัดแสดงทั่วโลกในปี 2010 หรือครบรอบ 50 ปีที่เรือดำน้ำ Trieste และ Rolex Deep Sea Special ได้ลงไปพิชิต Challenger Deep ทางแบรนด์ได้ผลิต DSS No.22 ตัว Display ที่มีตัวเรือนเป็น Stainless Steel สำหรับจัดแสดงที่สหัรัฐอเมริกา พร้อมกับเรือตรีดอน วาลช์ (Lt. Don Walsh) แบรนด์แอมบาสเดอร์คนสำคัญของ Rolex หนึ่งในลูกเรือของยานสำรวจน้ำลึก Trieste ราวกับศิลปินทัวร์คอนเสิร์ต
ในช่วงเวลาเดียวกัน Rolex ไม่ได้มีแค่ Rolex Deep Sea Special นาฬิกาที่สามารถเผชิญหน้ากับแรงดันน้ำอันมหาศาล ณ จุดลึกสุดของมหาสมุทรที่มวลมนุษยชาติได้ค้นพบ แต่ Rolex ยังมีนาฬิกาที่สามารถไปพิชิตจุดสูงสุดของโลกอีกด้วย นาฬิกาข้อมือที่ว่านี้คือ “Rolex Explorer” ที่ได้ถูกนำขึ้นไปยังยอดเขาเอเวอเรสต์ ยอดเขาที่สูงที่สุดในโลก มีความสูงถึง 8,709 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ด้วยความสูงเสียดฟ้าเช่นนั้น อุณหภูมิบนยอดเขาเอเวอเรสต์จึงอยู่ที่ติดลบ 50 องศาเซลเซียส ยอดเขานี้เต็มไปด้วยภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น หิมะถล่มและพายุหิมะที่เป็นอันตรายต่อนักปีนเขาที่พยายามจะขึ้นไปพิชิต และสภาวะเช่นนั้นเป็นบททดสอบที่ท้าทายให้กับสมรรถนะของนาฬิกา Rolex เช่นกัน
ปี 1953 เป็นปีเดียวกันกับตอนที่ยานสำรวจน้ำลึก Trieste เริ่มลงไปดำน้ำที่ระดับความลึก 3,150 เมตร แต่ในอีกมุมหนึ่งของโลก Edmund Hillary นักปีนเขาชาวนิวซีแลนด์ และ Tenzing Norgay ไกด์นำทางจากประเทศเนปาล ทั้งสองท่านนี้เป็นผู้พิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์สองคนแรกของโลกพร้อมกับนาฬิกาจาก Rolex ที่ทางแบรนด์ได้ทำขึ้นมาเป็นพิเศษเพื่อภารกิจครั้งนี้ โดย Rolex ได้ส่ง “Rolex Oyster Perpetual Ref.6298” ไปร่วมผจญภัย ช่วงแรกที่ได้ทำออกมาในปี 1950 ยังไม่ได้มีการวางขาย แต่ภายหลังจากผ่านการทดสอบสุดโหดจากยอดเขาเอเวอเรสต์ Rolex ได้ผลิตนาฬิการุ่นดังกล่าวในชื่อใหม่ว่า “Rolex Oyster Perpetual Explorer” เพื่อแสดงถึงตัวตนของนาฬิกาที่มีความทนทานสูงและเหมาะกับนักเดินทางในทุกสภาวะ
ด้วยความสำเร็จของ Rolex ทั้งบนบกและบนน้ำ Rolex ไม่รอช้าที่จะนำชัยชนะทั้งสองครั้งนี้มาประกาศให้คนทั้งโลกได้รู้ถึงขีดความสามารถของ Rolex ทางแบรนด์ได้พาดพิงถึงนาฬิกาทั้งสองรุ่นในการทำโฆษณาโปรโมท Rolex Submariner พร้อมกับแคมเปญที่ว่า “ตั้งแต่จุดสูงสุดของโลกจนถึงก้นท้องมหาสมุทร Rolex ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเรือนเวลาของเราสามารถไว้วางใจได้และไปกับคุณได้ทุกที่”
ด้วยรูปลักษณ์ภายนอกของ Rolex Deep Sea Special ที่มีกระจกหน้าปัดทรงกลมเหมือนตาปลาขนาดใหญ่ ที่หนาถึง 18 มม. จึงเป็นนาฬิกาข้อมือที่ไม่สามารถสวมใส่ในชีวิตประจำวัน และไม่มีใครกล้าใส่แน่นอน ถึงแม้ Rolex Deep Sea Special จะเป็นเพียงนาฬิการุ่นพิเศษที่ถูกคิดค้นมาเพื่อภารกิจดำน้ำลึกครั้งประวัติศาสตร์ของโลก Rolex ก็ยังสามารถใช้ชื่อเสียงดังกล่าวเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อทำการโปรโมทให้กับนาฬิกาข้อมือรุ่นอื่น ๆ ที่กันน้ำได้เช่นเดียวกัน แต่สามารถสวมใส่ได้จริงในชีวิตจริง เช่น Rolex Submariner ภาพด้านล่างคือโฆษณาของ Rolex บนนิตยสาร Skin Diver ฉบับเดือนมิถุนายน 1961 นิตยสารสำหรับคนรักการดำน้ำ ที่มีชื่อเสียงช่วงยุค 1950
โฆษณานำเสนอไว้ว่า “หัตถศิลป์และความเชี่ยวชาญในการผลิต “Bathyscaph Watch” ในที่นี้คือนาฬิกา Rolex Deep Sea Special ที่ถูกใช้ในภารกิจดำน้ำของยานสำรวจน้ำลึกตรีเอสต์ ก็ได้ถูกนำมาใช้ในการผลิต Rolex Submariner เช่นกัน” และสามารถหาซื้อได้ที่ร้าน Rolex ทุกที่ และยังกล่าวอย่างมั่นใจอีกว่าเจ้า Rolex Submariner เป็นนาฬิกาที่นักดำน้ำมากฝีมือทั่วโลกได้ไว้วางใจ
-------------------
และแล้วเราก็เดินทางมาสู่ตอนจบในภาคสองที่เป็นเรื่องราวของการดำน้ำครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มนุษย์สามารถลงไปยัง Challenger Deep จุดลึกสุดของโลกพร้อมกับ Rolex Deep Sea Special จนเป็นที่ประจักษ์แก่คนทั้งโลกว่าเรือนเวลาของ Rolex นั้นแข็งแรงและมีระบบกันน้ำที่มีประสิทธิภาพไร้เทียมทาน แต่แน่นอนค่ะว่าการผจญภัยสู่ก้นทะเลลึกยังไม่จบแต่เพียงเท่านี้ แบรนด์นาฬิการะดับโลกสัญชาติสวิสนี้ไม่หยุดที่จะทำในสิ่งที่คนทั้งโลกต้องตะลึง มาร่วมผจญภัยกับเราต่อได้ที่ Part 3 ค่ะ
อ้างอิงจาก
https://www.health.harvard.edu/a_to_z/decompression-sickness-a-to-z
https://deployant.com/rolex_deep_sea_special/
https://adaymagazine.com/ocean-secret/
Comments