ความปรารถนาของ Richard Garriott และ Seiko Spring Drive Spacewalk ที่เติมเต็ม
การไปอวกาศคงเป็นความฝันของหลาย ๆ คน แต่โอกาสที่จะได้ไปกลับมีน้อยมาก เพราะเกือบ 60 ปี นับตั้งแต่มนุษย์คนแรกขึ้นไปบนอวกาศเมื่อปี 1961 จนถึงปัจจุบัน มีมนุษย์ที่เคยไปที่นั่นเพียง 566 คน จาก 41 ประเทศ หรือเฉลี่ย 10 คนต่อปีเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อาจจุดประกายให้ความฝันที่จะไปอยู่ท่ามกลางความเวิ้งว้างนั้นเป็นจริงได้คือ หนึ่งใน 566 คนนั้น ไม่ใช่นักบินอวกาศ แต่เป็นเจ้าพ่อบริษัทเกมส์ชาวอเมริกัน ‘ริชาร์ด การ์ริอ็อต’ (Richard Garriott) ซึ่งมี Seiko Spring Drive Spacewalk ที่สั่งทำพิเศษเคียงข้างไปด้วย และในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานาฬิการุ่นนี้ก็ถูกนำมาประมูลในเว็บไซต์ Bonhams แบบออนไลน์ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 เมื่อต้นเดือนตุลาคม 2020 ที่ผ่านมา ทำราคาไปถึงกว่าแปดแสนบาท ซึ่งสูงที่สุดในการประมูลครั้งนี้ และอาจจะเป็นนาฬิกา Spring Drive ที่ราคาสูงที่สุดเท่าที่เคยมา
ดังนั้น ครั้งนี้เราจะมาทำความรู้จักกับ Seiko Spring Drive Spacewalk และเจ้าของผู้ริเริ่มที่บอกเลยว่าไม่ธรรมดา
Richard Garriott กับความฝันที่เกือบเป็นไปไม่ได้
ริชาร์ด การ์ริอ็อต (Richard Garriott) เกิดเมื่อปี 1961 เป็นชาวอเมริกัน-อังกฤษ โดยพ่อของเขาคือ โอเว็น การร์ริอ็อต (Owen Garriott) นักบินอวกาศของ NASA ผู้ซึ่งเคยใช้เวลาในอวกาศเกือบ 70 วันที่สถานีอวกาศ (Space station) แน่นอนว่าพ่อของเขาคือแรงบันดาลใจให้ริชาร์ดอยากเดินตามรอยเป็นนักบินอวกาศ แต่เมื่ออายุ 13 ปี เขาก็พบว่าตนมีปัญหาด้านสายตาทำให้ความฝันนั้นต้องพับเก็บลง จากนั้นก็ได้เบนเข็มความสนใจไปที่การพัฒนาเกมส์คอมพิวเตอร์ตั้งแต่อายุ 14 ปี
เมื่อบทเรียนวิชาคอมพิวเตอร์ในห้องเรียนไม่เพียงพอสำหรับริชาร์ด เขาถึงกับขอทางโรงเรียนให้เขาศึกษาเอง เมื่อเขาจบมัธยมปลาย มีเกมส์คอมพิวเตอร์จากฝีมือเขาถึง 28 เกมส์ ด้วยความหลงใหลและทุ่มเททำให้ในเวลาต่อมาเขากลายเป็นมหาเศรษฐียอดนักพัฒนาเกมส์และก่อตั้งบริษัท Portalarium ในปี 2009
อย่างไรก็ตาม แม้จะประสบความสำเร็จจากเกมส์ แต่เขาก็ไม่ได้ละทิ้งความปรารถนาที่จะไปอวกาศอยู่ดี และเริ่มหาทางใหม่อีกครั้ง เริ่มแรกเขาติดต่อกับทาง NASA ให้พาเขาไปอวกาศในฐานะนักท่องเที่ยว แต่ก็ถูกปฏิเสธ เพราะนับจากอุบัติเหตุจากกระสวยอวกาศโคลัมเบียเมื่อปี 2003 ได้คร่าชีวิตลูกเรือที่เป็นพลเรือนไป 7 คน NASA ก็ไม่มีแผนจะส่งพลเรือนขึ้นไปอวกาศอีก ริชาร์ดจึงหันไปพึ่ง Russian Federal Space Agency และจ่ายไปถึง 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบ 1,000 ล้านบาท เขาจึงได้ไปอวกาศสมใจ
อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้บนอวกาศจำเป็นต้องถูกออกแบบมาโดยเฉพาะ รวมไปถึงนาฬิกา ซึ่งริชาร์ดได้สั่งทำสำหรับใช้ในอวกาศจากแบรนด์นาฬิกาญี่ปุ่น Seiko สาเหตุมาจากโอเว็นพ่อของเขา ที่ตลอดระยะเวลา 70 วันที่เขาใช้ชีวิตในอวกาศก็สวม Seiko ทำให้ริชาร์ดเชื่อมั่นในแบรนด์นี้และสุดท้ายนาฬิกาที่ได้คือ Seiko Spring Drive Spacewalk SPS005
Seiko Spring Drive Spacewalk SPS005 คุณสมบัติที่เหมาะสมกับอวกาศ
หลังจากที่ทาง Russian Federal Space Agency ตกลงที่จะพาริชาร์ดเจ้าพ่อบริษัทเกมส์ไปอวกาศด้วยในปี 2007 และจะออกเดินทางในปีถัดมา ระหว่างนั้นเขาต้องใช้เวลาฝึกซ้อม 1 ปี โดยมี Seiko Spring Drive Spacewalk อยู่บนข้อมือและผ่านทุกแบบทดสอบไปพร้อมกับเขา เพื่อเป็นการการันตีก่อนเจอสถานการณ์จริงว่า Spacewalk นั้นเป็นนาฬิกาที่ออกแบบมาเพื่อใช้ในอวกาศอย่างแท้จริง
ลักษณะและคุณสมบัติของนาฬิกาเรื่อนนี้คือ ตัวเรือนทำจากไทเทเนียมและมีขนาดใหญ่มากถึง 48.7 มม. แต่มีนำหนักเบาเพียง 92.5 กรัม ซึ่ง Seiko ถึงกับต้องสร้างเครื่อง CNC ใหม่เพื่อที่จะผลิตมัน ทำให้นาฬิกาทนต่ออุณหภูมิที่แปรปรวนตั้งแต่ -14 ถึง 70 องศาเซลเซียส สามารถทนแรงดันและรังสีที่ได้รับขณะทำการปฏิบัติงานนอกยาน หรือที่เรียกว่า ‘Spacewalk’ ได้ รวมไปถึงเม็ดมะยมที่ 12 นาฬิกาแทนที่จะอยู่ด้านข้าง เพราะต้องการให้ใช้งานได้สะดวกขณะสวมถุงมือ พร้อมสายรัด Velcro ที่ทำมาเพื่อสวมทับกับชุดอวกาศขนาดใหญ่
นอกจากนี้ นาฬิกายังเต็มไปด้วยฟังก์ที่เป็นประโยชน์มากมาย ทั้งวันที่, GMT, Chronograph, พลังงานสำรอง 72 ชั่วโมง และพรายน้ำ Lumibrite ที่สว่างกว่านาฬิกาทั่วไป 3 เท่า รวมถึงความแม่นยำ +/- 15 วินาทีต่อเดือน ทั้งหมดนี้ขับเคลื่อนด้วย Calibre 5R86 กลไก Spring Drive ที่คิดค้นโดย Seiko แม้ว่าจะเปิดตัวกลไกนี้มาตั้งแต่ปี 1999 แต่ก็ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก การเดินทางของริชาร์ดจึงทำให้นี่เป็นครั้งแรกที่กลไก Spring Drive ถูกใช้ในอวกาศ
Spring Drive เป็นการผสมผสานระหว่างระบบจักรกลและระบบควอทซ์รวมเข้าด้วยกัน กล่าวคือ ส่วนประกอบทั้งหมดยังคงเป็นแบบกลไกและแหล่งพลังงานเดียวคือ ตลับลาน ไม่ใช่แบตเตอรี่ แต่แทนที่จะใช้จักรกลอกและ Escapement เพื่อสร้างและควบคุมความถี่ กลไก Spring Drive ใช้ตัวควบคุม Tri-synchro ที่ประกอบด้วยควอทซ์ แผงวงจร และแม่เหล็กไฟฟ้าแทน วิธีการทำงานคือ เมื่อลานคลายตัว โรเตอร์จะหมุนแล้วสร้างกระแสไฟฟ้าในขดลวดเพื่อส่งไปที่แผงวงจรและผลึกควอทซ์ ซึ่งพลังงานไฟฟ้าจะไหลย้อนกลับมาเพื่อคอยควบคุมความเร็วของโรเตอร์หากหมุนเร็วเกิน 8 ครั้งใน 1 วินาที เรียกว่า “เบรคแม่เหล็กไฟฟ้า” ทำให้ไม่มีชิ้นส่วนใด ๆ สัมผัสกัน เพราะอาศัยแรงต้านของแม่เหล็กที่กระทำต่อกัน
การทำงานของ Spring Drive
การกลับมาของ Seiko Spring Drive Spacewalk
การฝึกซ้อมตลอด 1 ปี ทำให้ริชาร์ดออกเดินทางสู่สถานีอวกาศนานาชาติเมื่อวันที่ 12 ตุลาคมปี 2008 ด้วยยาน Soyuz TMA-13 ในฐานะนักท่องเที่ยว เขาใช้เวลาอยู่ที่นั่นถึง 12 วัน และถ่ายทำภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เรื่อง Apogee of Fear ที่แปลเป็นไทยว่า ‘ขีดสุดของความกลัว’ นอกจากนี้เขายังทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์อย่างการเติบโตของผลึกโปรตีนในอวกาศอีกด้วย
นาฬิกา Seiko Spring Drive Spacewalk ทำงานได้อย่างไร้ที่ติตลอดระยะเวลาบนอวกาศ และในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน นักบินอวกาศรัสเซียก็สวมนาฬิการุ่นนี้ปฏิบัติงานนอกยานเป็นเวลา 5 ชั่วโมง 38 นาที
ขากลับจากอวกาศ ริชาร์ดกลับด้วยยาน Soyuz TMA-12 แต่สิ่งที่เขาทำนั้นมากกว่าแค่ไปท่องเที่ยว เพราะจุดมุ่งหมายของเขาคือ ใช้นาฬิกาช่วยสร้างการรับรู้และความสนใจเกี่ยวกับศักยภาพการสำรวจอวกาศในอนาคต ด้วยเหตุนี้ Seiko Spacewalk ที่เขาเคยสวมใส่จึงถูกนำมาประมูลโดย Antiquorum ในนิวยอร์กเมื่อเดือนกันยายนปี 2009 ในราคา 45,600 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1,416,000 บาท) และมอบให้กับองค์กรการกุศลสองแห่งที่ริชาร์ดสนับสนุน ได้แก่ Nature Conservancy และ Challenger Center for Space Science Education
และเพื่อระลึกถึงความทุ่มเทและทุ่มทุนของริชาร์ด ในปี 2010 Seiko ก็ได้ผลิต Seiko Spring Drive Spacewalk SPS005 ขึ้นมา 100 เรือนเท่านั้น โดยนาฬิกาจะเหมือนกับตัวต้นแบบทุกประการ ยกเว้นเม็ดมะยมแบบ Screw-in ที่ถูกนำมาปรับใช้กับรุ่นใหม่ สาเหตุที่เพิ่งนำมาใช้ก็เพื่อความสะดวกของริชาร์ดในชุดนักบินอวกาศ การใช้เม็ดมะยม Screw-in จะช่วยรักษาระบบกลไกภายในโดยรวม ส่วนสายนาฬิกาจะเป็นสายไนลอน มาพร้อมกับสายไนลอนยืดหยุ่นอีกเส้นแบบเดียวกับที่ใช้ในอวกาศ และหมายเลขประจำเครื่องจะถูกสลักไว้ด้านหลังตัวเรือน
Seiko Spring Drive Spacewalk SPS005 ผ่านการวิจัยและพัฒนามากมายตั้งแต่ต้น ซึ่งเป็นหนึ่งในสิ่งที่ทำให้มันมีเอกลักษณ์ และได้รับรางวัล Sports Watch of the Year ในงาน Grand Prix d'Horlogerie de Genèveในปี 2010 อีกด้วย
----------
เรื่องราวของการเดินทางสู่อวกาศของ Richard Garriott หลายคนอาจมองว่าเพราะเป็นมหาเศรษฐีจึงทำได้ นั่นเป็นจริงแค่ส่วนหนึ่ง เพราะเขาก็เคยล้มเหลวด้านธุรกิจ แต่ก็เพราะความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่อยากไปอวกาศ ทำให้เขามุ่งมั่นกอบกู้บริษัท และยอมผ่าตัดตับที่พบว่ามีปัญหาในการฝึกและการไปอวกาศ หลังจากกลับมายังโลก เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า “เพราะผมเติบโตในครอบครัวนักบินอวกาศ ผมเชื่ออย่างหนักแน่นว่าทุกคนสามารถไปอวกาศได้ และวันนี้ผมทำได้แล้ว ผมจึงใช้โอกาสนี้เพื่อจุดประกายคนอื่น ๆ และแสดงให้เห็นว่าเราสามารถบรรลุสิ่งที่ใฝ่ฝันได้ด้วยการทำงานหนักและความมุมานะ”
นอกจากริชาร์ดจะบรรลุความใฝ่ฝันที่มีในวัยเด็กแล้ว ยังเปิดโอกาสให้ Seiko ได้พิสูจน์ศักยภาพและความเที่ยงตรงของระบบ Spring Drive ที่เป็นกรรมสิทธ์ของแบรนด์ ว่าเป็นนาฬิกาที่สามารถทำงานได้อย่างไร้ที่ติในทุกสภาวะบนอวกาศ
อ้างอิง
http://en.worldtempus.com/watches/spring-drive-spacewalk-commemorative-edition-5144.html
https://en.wikipedia.org/wiki/Richard_Garriott
https://www.cnbc.com/2018/10/19/what-its-like-in-space-from-a-tourist-who-spent-30-million-to-go.html
https://www.bbc.com/news/business-50757073
Commenti