เพียงมือมนุษย์: 8 ปีกับนาฬิกาพกที่ซับซ้อนที่สุดในโลก “Patek Philippe Henry Graves Supercomplication”
ความเป็นเลิศในศักยภาพมนุษย์เป็นสิ่งที่หลาย ๆ องค์กรยึดถือมาโดยตลอด แม้ว่าวิวัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีจะพัฒนาตามกาลเวลาที่พ้นผ่าน การสรรสร้างกลไกปราศจากการใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มาช่วยไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นไปไม่ได้ เพราะในปี 1933 Patek Philippe ก็ได้เอาชนะขีดจำกัดความสามารถมนุษย์อีกขั้น โดยใช้เวลาถึง 8 ปีกับการสร้างนาฬิกาพก Patek Philippe Henry Graves Supercomplication เรือนพิเศษหนึ่งเดียวให้กับ นายธนาคารนามว่า Henry Graves ซึ่งเราอาจนิยามนาฬิกาเรือนนี้ได้ว่า รังสรรค์ด้วยเพียงมือมนุษย์ ปราศจากจักรกลหรือวิทยาการใด ๆ จนกลายเป็นนาฬิกาที่มีถึง 24 ฟังก์ชัน ซึ่งเกือบจะเรียกว่าเป็นไปไม่ได้ในช่วงเวลานั้น
ที่มาของนาฬิกาพกเรือนนี้
“Patek Philippe Henry Graves Supercomplication” ถูกตั้งชื่อตามเจ้าของอย่าง เฮนรี่ เกรฟส์ (Henry Graves) นายธนาคารใน New York ผู้สั่งทำนาฬิกาเรือนนี้กับ Patek Philippe ในปี 1925 เดิมที เกรฟส์มีความหลงใหลในนาฬิกาและเป็นนักสะสมตัวยง ด้วยความที่เป็นลูกค้าประจำของ Patek Philippe ตั้งแต่ปี 1903 จนในปี 1910 เขามักจะสั่งทำนาฬิกาที่สลักตราประจำตระกูล จุดเริ่มต้นของการผลิตนาฬิกาเรือนนี้เกิดจากเขาได้ไปท้าแข่งกับ เจมส์ วาร์ด แพคคาร์ด (James Ward Packard) นักธุรกิจผู้ก่อตั้ง Packard Motor Car Company ผู้ชอบสะสมนาฬิกาเช่นเดียวกัน ว่าใครจะสามารถครอบครองนาฬิกาที่มีความซับซ้อนมากกว่ากัน ซึ่งสุดท้าย เกรฟส์ก็ชนะไปในปี 1933 ด้วยนาฬิกา Supercomplication ของเขา มูลค่า 60,000 CHF หรือ 15,000 ดอลลาร์สหรัฐในสมัยนั้น นั่นก็เพราะว่า ในขณะที่นาฬิกาของ Packard ประกอบด้วยฟังก์ชันซับซ้อนแค่ 10 ฟังก์ชัน แต่นาฬิกาของเกรฟส์มีถึง 24 ฟังก์ชันและแพงกว่านาฬิกาของแพคคาร์ดถึง 5 เท่า จึงชนะอย่างไม่มีข้อโต้แย้ง
ฟังก์ชั่นซับซ้อนของ Supercomplication
สำหรับเจ้านาฬิกา Supercomplication เรือนนี้ Patek Philippe ใช้เวลา 3 ปีในการศึกษาค้นคว้าวิจัย กลไกการทำงานของนาฬิกา และอีก 5 ปี ในการผลิตจากมือมนุษย์ล้วน ๆ ไม่มีคอมพิวเตอร์หรือเทคโนโลยีช่วยเหลือ สรุปคือต้องใช้ 8 ปีในการผลิตนาฬิกาเรือนนี้ขึ้นนั่นเอง
ลักษณะทั่วไปคือ เป็นนาฬิกาพกที่มีหน้าปัด 2 ด้าน ด้านหน้าจะบอกเวลาแบบ 12 ชั่วโมง และด้านหลังเป็น 24 ชั่วโมง ตัวเรือนทำจากทองคำ 18 กะรัต ขนาดหน้าปัด 74 มม. ความหนาตัวเรือนรวมกระจก 36 มม. ประกอบด้วยชิ้นส่วนต่าง ๆ กว่า 920 ชิ้น ทำให้มันมีน้ำหนักมากถึงกว่าครึ่งกิโลกรัม (536 กรัม) รวมถึงฟังก์ชันที่แสนซับซ้อนถึง 24 ฟังก์ชัน คร่าว ๆ ดังนี้
บอกเวลาดาราคติ (Sidereal Time) ซึ่งหมายถึงช่วงเวลาที่ดาวฤกษ์โคจรกลับมาอยู่ ณ ตำแหน่งเดิมอีกครั้ง 1 วันดาราคติมี 24 ชั่วโมง แต่จะสั้นกว่าวันที่ใช้ดวงอาทิตย์เป็นหลัก 4 นาที ซึ่งนาฬิกาเรือนนี้บอกเวลาได้ทั้งหน่วยวินาที นาที และชั่วโมง
บอกเวลาพระอาทิตย์ขึ้น - ตก
บอกสมการเวลา คือ บอกค่าความต่างระหว่าง 'เวลาจริง' ของดวงอาทิตย์ที่โคจรจากตะวันออกไปตะวันตก กับ 'เวลาเฉลี่ย' ของดวงอาทิตย์ที่สมมติขึ้น
ปฏิทินถาวรที่เพิ่มวันที่ 29 กุมภาพันธ์โดยอัตโนมัติ ทำให้ไม่ต้องปรับและมีความเที่ยงตรงถึงปี 2100
บอกวันที่ของเดือน วันที่ของสัปดาห์ บอกเดือน และการเกิดข้างขึ้นข้างแรมของดวงจันทร์
สามารถจับเวลาโดยกดหยุดจับเวลาเพื่อบันทึกค่าได้จากเข็มจับเวลาวินาทีที่หยุดเดิน ในขณะที่การจับเวลายังคงดำเนินต่อไปด้วยเข็มจับเวลาวินาทีอีกเข็มหนึ่งที่แยกตัวออกจากเข็มที่หยุดไป
จับเวลาได้ 30 นาที และ 12 ชั่วโมง
มีเสียงระฆัง Grande Sonneriec และ Petite Sonnerie
และพิเศษสุดด้วย Stars Chart บอกตำแหน่งดวงดาวและท้องฟ้ายามค่ำคืนที่มองจากบ้านของเกรฟส์ ใน New York นับได้ว่าเป็นนาฬิกาที่สร้างมาเพื่อเป็นของเกรฟส์เพียงผู้เดียว
แต่สุดท้ายใช่ว่าเกรฟส์จะพอใจกับนาฬิกาเรือนนี้...
เพราะนับตั้งแต่เขาได้รับนาฬิกาเรือนนี้มา เขากลายเป็นจุดสนใจต่อสาธารณะชนอย่างมาก ซึ่งไม่ใช่การชื่นชมแต่กลับเป็นคำพูดด่าทอและต่อต้านจากผู้คนว่า เขาใช้จ่ายเงินหลายหมื่นฟรังซื้อสินค้าหรูหราฟุ่มเฟือย ในขณะที่ผู้คนอดอยากกัน ประกอบกับหลังจากที่เขาได้รับนาฬิกาเพียง 7 เดือน เพื่อนรักของเขาแพคคาร์ดก็เสียชีวิต และในปี 1922 เขาก็สูญเสียแฮร์รี่ลูกชายคนโตวัยเพียง 25 ปีด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์ ด้วยเหตุร้ายอันใดไม่อาจบอกได้ แต่ผ่านไปเพียง 12 ปีหรือในปี 1934 จอร์จลูกชายคนสุดท้องของเขาก็เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถชนเช่นกัน
สำหรับเกรฟส์นาฬิกา Supercomplication เลยกลายเป็นเหมือนคำสาป แทนที่จะนำเรื่องดี ๆ มาให้เขามีความสุข แต่กลับนำความโศกเศร้าและความเกลียดชังมาแทน วันหนึ่งหลังจากจิตตกมาเป็นเวลานาน เขาตัดสินใจจะเอามันไปโยนมันทิ้งลงทะเลสาบ แต่ขณะกำลังจะโยนทิ้ง เกว็นโดเลนลูกสาวของเขาเข้ามาห้ามไว้ทัน เขาจึงมอบนาฬิกาเจ้าปัญหาให้กับลูกสาวเก็บรักษาไว้นับแต่นั้นมา
วันเวลาผ่านไป เกรฟส์ไม่สนใจนาฬิกาเรือนนั้นอีกแล้ว จนเขาจากไปในวัย 86 ปี หลังจากนั้นนาฬิกา Supercomplication ก็ตกทอดมาสู่เกว็นโดเลนและในปี 1960 นาฬิกาก็ถูกส่งต่อให้กับลูกชายของเธอ เรจินัลด์ พีท ฟูเลอร์ตัน (Reginald ‘Pete’ Fullerton) ผู้ซึ่งนำมาขายให้กับนักอุตสาหกรรมจากรัฐ Illinois ในราคา 200,000 ดอลลาร์สหรัฐ
จนกระทั่งปี 1999 นาฬิกา Supercomplication ได้ถูกจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ในรัฐ Illinos จากนั้นก็ขายให้กับนักสะสมในงานประมูลของบริษัทประมูล Sotheby’s ที่ New York ในราคา 11 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยผู้ประมูลรู้จักในภายหลังคือชีคซาอุด บิน มูฮัมเหม็ด อัล ธานี (Saud bin Muhammed Al Thani) เจ้าชายราชวงศ์กาตาร์ เขาเป็นนักสะสมระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะ รถยนต์ หรือนาฬิกา ซึ่งเขาก็เป็นเจ้าของ Supercomplication นับแต่นั้นมา
จนเมื่อเดือนกรกฎาคม 2014 บริษัทประมูล Sotheby’s ประกาศว่า นาฬิกาพกเรือนนี้จะถูกนำมาประมูลอีกครั้งในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2014 ซึ่งก่อนงานประมูลจะเริ่มขึ้นเพียงแค่ 2 วัน ท่านชีคเจ้าของเก่า ได้เสียชีวิตลงที่บ้านของเขาในวัยเพียง 48 ปี ในงานประมูลครั้งนี้ Henry Graves Supercomplication ถูกประมูลโดยผู้ไม่ประสงค์ออกนามไปในราคาสูงถึง 24 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 725 ล้านบาท ทำให้เรือนนี้กลายเป็นนาฬิกาที่แพงที่สุดในโลกอันดับ 5 และยังครองตำแหน่งนี้มาถึงปัจจุบัน
หากอ่านมาจนถึงตรงนี้แล้ว หลายคนอาจสงสัยว่าสรุปแล้วอะไรที่ทำให้มูลค่าของนาฬิกาเรือนนี้เพิ่มเป็นหลายเท่าตัว จริง ๆ แล้วก็ไม่น่าแปลกใจมากนัก เพราะด้วยวิทยาการล้ำสมัยจากฝีมือมนุษย์เมื่อร้อยปีก่อนสามารถรังสรรค์นาฬิกาที่ทำได้มากกว่าบอกเวลาถึง 24 ฟังก์ชัน และใช้เวลาทำกว่า 8 ปี นอกจากนี้ ยังทำหน้าเป็นดั่งไทม์แมชชีนบอกเล่าเรื่องราวตนเองอยู่ตลอดเวลาถึงความอับโชคของผู้ครอบครอง ซึ่งกลายเป็นสิ่งท้าทายให้เหล่ามหาเศรษฐีแย่งชิงกันเพื่อเป็นเจ้าของ
นาฬิกาเรือนนี้ผ่านช่วงเวลาที่ทั้งแสนสุขและแสนเศร้าของเจ้าของมานับร้อยปี การที่เข็มยังเดิน ทำหน้าที่อย่างไร้ที่ติตลอดมา ทั้งหมดนี้ก็น่าจะเป็นเหตุผลที่หนักแน่นมากพอว่าเหตุใดมันถึงมีมูลค่าทั้งทางโลกเศรษฐกิจและทางโลกศิลปะมากเพียงนี้
Credits:
Comments