top of page

Rolex Sea Dweller Deep Sea: Part 4: การผจญภัยครั้งใหม่ของ Sea-Dweller กับ James Cameron

ด้วยระยะเวลาที่ผ่านมานานมากกว่าครึ่งศตวรรษ ขนาดลักษณะภายนอกและองค์ประกอบต่างๆของเรือดำน้ำ Deepsea Challenger ที่ถูกใช้โดย James Cameron ในปี 2012 เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับเรือดำน้ำ Trieste ที่ Jacques Piccard และ Lt. Don Walsh ใช้ในปี 1960 เนื่องจากนวัตกรรมทางเทคโนโลยีแปลกใหม่ที่มีอยู่มากมายในยุคปัจจุบัน ไม่ต่างกันกับนาฬิกาทั้งสองเรือนที่ไปปฏิบัติภารกิจดำน้ำที่ Challenger Deep จุดที่ลึกสุดขั้วของโลกใต้มหาสมุทร ในขณะที่ Rolex Deep Sea Special 1960 เป็นเหมือนนาฬิกาข้อมือปกติ ที่มีกระจกหน้าปัดหนาราวกับแท่งแก้ว แต่ Rolex Deep Sea Challenge เต็มไปด้วยองค์ประกอบอะไรมากมายที่ทำให้มันสามารถกันน้ำได้กว่าหนึ่งหมื่นเมตร


หวนคืนสู่ก้นมหาสมุทรอีกครั้งใน Deep Sea Challenge Expedition


จากบทความภาคแรก เราได้เล่าถึงเรื่องราวของ Rolex ที่ดำดิ่งลงไปสู่ Challenger Deep ครั้งแรกกับกองทัพเรือสหรัฐ พร้อมกับ Jacques Piccard และ Don Walsh ในปี 1960 พื้นเพของทั้งสองลูกเรือที่เป็นนักสมุทรศาสตร์และทหารเรือ เราจึงไม่มีคำถามว่าพวกเขามาเข้าร่วมภารกิจนี้ได้อย่างไร แต่ในปี 2012 ทุกท่านอาจจะคาดไม่ถึงเลยก็ได้ว่าคนที่ลงไปสู่ Challenger Deep ครั้งนี้คือ James Cameron ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง


ประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ได้เริ่มขึ้นเมื่อ Rolex ได้เข้าร่วมปฏิบัติการดำน้ำลึกใน “Deep Sea Challenge Expedition” เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2012 เรือดำน้ำ “Deepsea Challenger” ได้ดำดิ่งลงไปสู่ Challenger Deep ที่ร่องลึกมหาสมุทรมาเรียนา (Mariana Trench) เป็นความลึกระดับ 35,787 ฟุต (10,908 เมตร) โดยเป็นการร่วมมือระหว่าง James Cameron กับ National Geographic Society ส่วนหนึ่งในความตั้งใจของโครงการนี้คือทำขึ้นเพื่อการศึกษาเชิงวิทยาศาสตร์โดยการสำรวจใต้มหาสมุทร และปกติแล้ว Rolex ไม่ใช่แบรนด์ที่จะผลิตนาฬิกา Exclusive มาให้ใครได้ง่ายๆ แต่กลับเลือกที่จะเข้าร่วมโครงการนี้ อาจจะเป็นเพราะ Rolex ต้องการโอกาสนี้ในการพัฒนาและพิสูจน์ว่า Rolex เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบและผลิตนาฬิกากันน้ำที่มีประสิทธิภาพสูงอย่างแท้จริง เพื่อสืบสานหัวใจหลักของแบรนด์ตามที่ Hans Wilsdorf มุ่งหมายตลอดมา นอกจากนี้ James Cameron ยังเป็นมนุษย์คนแรกที่ได้ลงไปยัง Challenger Deep เพียงลำพัง ปฏิบัติการนี้อาจทำให้การที่มนุษย์ออกไปสำรวจนอกโลกหรือเหยียบดวงจันทร์ดูธรรมดาไปเลย แต่ก่อนที่จะไปยลโฉมนาฬิกา Deepsea เวอร์ชันปี 2012 ตอนนี้ เรามาทำความรู้จักกับเรือดำน้ำที่ใช้ในภารกิจนี้กันก่อนค่ะ


Trieste – 1960 Vs. Deepsea Challenger– 2012

Trieste 1960 (ซ้าย) / Deepsea Challenger2012 (ขวา)

ด้วยระยะเวลาที่ผ่านไปมากกว่า 50 ปี เรือดำน้ำทั้งสองลำที่ถูกใช้ในปี 1960 และ 2012 จึงแตกต่างกันเป็นอย่างมาก ตัวเรือ Trieste ของปี 1960 มีลักษณะเป็นแนวนอนแบบเรือ/เรือดำน้ำทั่วไป มีความยาว 59.5 ฟุต (18.1 เมตร) น้ำหนัก 150 ตัน ลอยตัวได้ด้วยถังน้ำมันของตัวเรือ ไม่มีเครื่องมือทางเทคโนโลยีใดถูกติดตั้งเอาไว้เพื่อเก็บตัวอย่างจากท้องทะเลหรือเพื่อบันทึกภาพใต้น้ำแต่อย่างใด ดังนั้นการดำน้ำลงสู่ Challenger Deep ในปี 1960 ทำได้แค่สำรวจสภาพแวดล้อมและลักษณะของสิ่งมีชีวิตใต้น้ำลึกเท่านั้น Trieste มีลูกเรือประจำการสองคน ไปยังความลึกระดับ 35,814 ฟุต (10,916 เมตร) ถือว่าลึกกว่าในปี 2012 เล็กน้อย นอกจากนี้การเดินทางทั้งขาไปและขากลับของ Trieste ยังใช้เวลายาวนานถึง 9 ชั่วโมง แต่ใช้เวลาอยู่ที่ก้นทะเลอยู่เพียง 20 นาทีเท่านั้น


คราวนี้เรามาดูฝั่ง “Deepsea Challenger” ของปี 2012 กันบ้าง เรือดำน้ำนี้เป็นรูปทรงตอร์ปิโดแนวตั้ง มองผิวเผินจะดูเหมือนขวดน้ำ มีความสูง 7.3 เมตร น้ำหนัก 12 ตัน เป็นขนาดที่เล็กและเบากว่า Trieste อยู่มาก ส่วนข้อสันนิษฐานถึงเหตุผลอื่น ๆ ที่ต้องออกแบบให้เรือดำน้ำมีลักษณะตรงเป็นแนวตั้งเพราะมันต้องเดินทางในแนวดิ่ง (Vertical) เป็นระยะทางกว่า 20 กม. รวมถึงอาจเป็นเพราะว่า เมื่อครั้นที่ Piccard และ Walsh ได้ลงไป Challenger Deep ครั้งแรกในปี 1960 พวกเขาได้พบกับเหตุระทึกขวัญอย่างการที่เรือดำน้ำไปปะทะกับโขดหินของร่องลึกมหาสมุทรขนาดเล็กจนเกือบจะพรากชีวิตของพวกเขาไป เพราะ Trieste เป็นเรือดำน้ำที่มีลักษณะเป็นแนวนอนอย่างที่เราเห็นในภาพ ดังนั้นมันมีแนวโน้มที่จะไปกระแทกกับโขดหินระหว่างทางมากกว่าเรือดำน้ำทรงตอร์ปิโดแนวดิ่งขนาดเล็กอย่าง Deepsea Challenger แน่นอนว่า Cameron คงไม่อยากไปเผชิญหน้ากับสถานการณ์เช่นนั้นกับตัวเขาเอง ดังนั้น Deepsea Challenger ต้องถูกออกแบบมาให้มีรูปแบบที่เหมาะสมมากยิ่งขึ้น และด้วยน้ำหนักที่มากถึง 150 ตันของ Trieste เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มันเคลื่อนตัวช้าและใช้เวลาเดินทางนานกว่า Deepsea Challenger ที่ใช้เวลาเพียง 6 ชั่วโมงที่ระดับความลึก 10,908 เมตร ซึ่งถึงแม้จุดที่ไปถึงจะตื้นกว่าของปี 1960 อยู่ 8 เมตร แต่ Deepsea Challenger สามารถอยู่ที่ก้นมหาสมุทรได้นานถึง 45 นาที ซึ่งเป็นตัวเลขที่มีนัยสำคัญมากกว่า

เรือดำน้ำ Deepsea Challenger (ซ้าย) / นาฬิกาจาก Rolex ที่ถูกใส่ไว้กับ Manipulator Arm (ขวา)

ในขณะที่ Trieste ลอยตัวได้ด้วยวิธีดั้งเดิมอย่างการใช้ถังน้ำมันของตัวเรือ แต่ Deepsea Challenger ลอยตัวโดยโฟมหรือวัสดุสังเคราะห์ที่ใช้ในวงการการดำน้ำ (ISOFLOAT TM Syntactic Foam) โฟมนี้มีความแข็งแรงค่อนข้างมากแต่หนาแน่นน้อย มีน้ำหนักเบาเอาไว้ใช้เป็นตัวช่วยพยุงเรือดำน้ำให้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง และ Deepsea Challenger ถูกออกแบบมาให้เป็นฐานสำหรับสำรวจเชิงวิทยาศาสตร์จึงมีการติดตั้งเทคโนโลยีมากมาย เช่น แขนกล, เซนเซอร์ CTD สำหรับวัดอุณหภูมิและความดันใต้น้ำ หรือจะเป็นเครื่องเก็บตัวอย่าง ทำให้ยานสำรวจใต้น้ำนี้สามารถเก็บตัวอย่างจากท้องทะเลเพื่อทำวิจัยทางชีววิทยาทางทะเล จุลชีววิทยา สมุทรศาสตร์ ธรณีวิทยาทางทะเลและธรณีฟิสิกส์ สำหรับอุปกรณ์การบันทึกภาพ เรือนี้มี 3D Film Camera เพื่อถ่ายภาพแบบสามมิติและกล้องจับภาพนิ่งแบบธรรมดาเพื่อการสำรวจเชิงวิทยาศาสตร์และสำหรับทำสารคดีอีกด้วย เมื่อเทียบกับ Trieste หรือเรือดำน้ำอื่นๆแล้ว Deepsea Challenger เป็นเรือดำน้ำที่ล้ำสมัยเป็นอย่างมาก ส่วนแขนกล (Manipulator Arm) ของตัวเรือที่ถูกชี้ด้วยลูกศรสีแดงในภาพด้านบน เป็นส่วนที่สามารถหยิบจับและมีปฏิสัมพันธ์กับวัตถุในพื้นที่ปฏิบัติการได้ และชิ้นส่วนนี้นั้นแหละค่ะ เป็นเหมือนข้อมือของเรือดำน้ำที่สวมนาฬิกา “Rolex Sea-Dweller Deepsea Challenge” เอาไว้

James Cameron และเรือดำน้ำ Deepsea Challenger

James Cameron คือใคร ?

James Francis Cameron เป็นชาวแคนาดาตั้งแต่กำเนิด เกิดเมื่อปี ค.ศ.1954 เขาย้ายเข้ามาเรียนที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอเนีย แต่สุดท้ายก็เรียนไม่จบ แต่เนื่องจากเขามีความไฝ่ฝันอยากทำงานในสายภาพยนตร์ จึงดิ้นรนทำงานเพื่อสานฝันนี้มาตั้งแต่ตำแหน่งคนขับรถขนของ และรับจ้างทั่วไป สุดท้ายเขาก็ได้รับงานผู้กำกับครั้งแรกจากภาพยนตร์เรื่อง Piranha II : The Spawning ในปี 1981 แต่ก็ถูกไล่ออกจากตำแหน่งในสองสัปดาห์


ไม่น่าเชือว่าเขาได้กลับมามีโอกาสเขียนบทและกำกับหนังทุนต่ำกับบริษัทหนังอิสระ ในปี 1984 ที่นำแสดงโดยดารานำอย่าง อาร์โนด์ สวาเซอเนกเกอร์ (Arnold Schwarzenegger) ในภาพยนตร์ Sci-Fi เรื่อง The Terminator ภาค 1 หลังจากนั้นคงไม่ต้องบรรยายผลงานที่เหลือ เพราะติดอันดับ Blockbuster ทั้งสิ้น


Cameron เป็นผู้คลั่งไคล้ในการสำรวจใต้น้ำมาตั้งแต่วัยเยาว์ คุณอาจจะเคยดูภาพยนตร์ของ Cameron ผ่านตามาแล้ว อย่างเรื่อง Avatar แต่ก็มีภาพยนตร์หลายเรื่องของ Cameron ที่บ่งบอกได้ชัดเจนว่าเขาหลงใหลเรื่องราวเกี่ยวกับมหาสมุทรมากแค่ไหน เช่น The Abyss (1989) เป็นเรื่องของการค้นหาเรือดำน้ำนิวเคลียร์ของกองทัพเรือสหรัฐฯที่ได้อับปางลงไปในหุบเหวลึกใต้ทะเลจากการชนเข้ากับวัตถุปริศนา จึงมีการส่งหน่วยรบพิเศษ Seals ลงไปค้นหา แต่แล้วก็ได้เจอกับสิ่งมีชีวิตจากต่างดาวที่ไม่เคยมีใครเห็นมาก่อน หรือจะเป็นหนังรักโรแมนติก แต่กลับกลายเป็นโศกนาฏกรรมใน Titanic (1997) ถึงแม้การถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง Titanic นั้นเป็นการถ่ายทำในสระว่ายน้ำที่ถูกปรับอุณหภูมิให้อุ่นและเหมาะสมต่อการแสดงเป็นเวลานาน แต่ James Cameron ก็ได้ทำงานอย่างอุทิศกายถวายตัวให้กับหนังเรื่องนี้ Cameron ได้ดำน้ำลงไปสำรวจซากเรือไททานิคมากถึง 33 ครั้งด้วยกัน นอกจากภาพยนตร์ เขายังได้ทำสารคดีโลกใต้ทะเลอีกมากมาย เช่น Ghosts of the Abyss (2003) และ Aliens of the Deep (2005) จนกระทั่งในปี 2012 เขาได้ตัดสินใจทำในสิ่งที่ไปไกลยิ่งกว่านั้น คือการสร้างเรือนดำน้ำเพื่อลงไปถ่ายทำสารคดีภาพ 3 มิติที่มีชื่อเรื่องว่า “James Cameron’s Deep Sea Challenge 3D” ให้กับ National Geographic Society


นอกจาก James Cameron จะได้สานฝันของตนเองในการลงไปดำน้ำที่จุดที่ลึกที่สุดในโลกนี้ เขานับว่าเป็นมนุษย์คนแรกของโลกที่ได้ลงไปยัง Challenger Deep เพียงลำพัง และเขายังได้รับโอกาสพิเศษอีกหนึ่งอย่าง ก็คือ การได้นำ “Rolex Deep Sea Special - DSS” ของปี 1960 ในตำนานลงไปทำภารกิจในครั้งนี้ด้วย และได้นำไปประจำอยู่ในห้องเครื่องของเรือดำน้ำ Deepsea Challenger ระหว่างปฏิบัติการ Cameron กล่าวด้วยความปลื้มปิติไว้ว่า “ทันทีที่ผมได้เข้าไปในเรือดำน้ำ ผมก็ได้พบกับที่ว่างสุดพิเศษอันคู่ควรกับ ‘พี่สาวคนโต’ ในที่นี้ก็คือ Rolex Deep Sea Special ที่ได้ลงไปปฏิบัติการกับเรือดำน้ำ Trieste ซึ่งเมื่อ 52 ปีก่อนได้ดำดิ่งลงไปสู่สถานที่ที่ไกลโพ้นที่สุดในดวงดาวแห่งนี้กับผม และยังเป็นเหมือนเครื่องรางนำโชคของผมด้วยล่ะ”

ภาพปกสารคดี James Cameron’s Deep Sea Challenge 3D(ซ้าย) / ตำแหน่งที่เรือ Deepsea Challengerได้ลงไปพิชิต (ขวา)

Rolex Sea-Dweller Deepsea Challenge ขั้นสุดของนาฬิกาดำน้ำ


คราวนี้เรามาทำความรู้จักกับนาฬิกาเรือนที่สองในประวัติศาสตร์ของ Rolex ที่สามารถกันน้ำได้เกือบลึกที่สุดเท่าที่ทางแบรนด์เคยมีมา “Rolex Sea-Dweller Deepsea Challenge” นาฬิกาทดลองที่ติดไว้กับแขนกล (Manipulator Arm) ของตัวเรือ Deepsea Challenger มีตัวเรือนขนาด 51.4 มม.เม็ดมะยมเป็นระบบป้องกันน้ำเข้าสามชั้น กลไกภายในเป็นระบบขึ้นลานอัตโนมัติ Caliber 3135 การผนึกตัวเรือนพิเศษทำให้มีความสามารถกันน้ำได้ที่ระดับความลึก 39,370 ฟุต(12,000 เมตร) นับว่าเป็นระดับความลึกที่มากกว่าความลึกของ Challenger Deep (11,000 เมตร) ในร่องลึกมหาสมุทรเสียอีก นอกจากขนาดตัวเรือนที่ใหญ่กว่านาฬิกาข้อมือปกติ Deep Sea Challenge ยังมีความหนาถึง 28.5 มม. (นาฬิกาทั่วไปจะหนาประมาณ 10-15 มม.) เรามาดูกันค่ะ ว่าตัวเรือนทั้งหมดนี้ประกอบด้วยอะไรกันถึงได้หนาสุดโต่งเช่นนั้น ตัวเรือน ประกอบด้วย 9 ส่วนประกอบหลัก ตามด้านล่างนี้

Rolex Sea-Dweller Deepsea Challenge (ซ้าย) / โครงสร้างตัวเรือน (ขวา)

A. ขอบตัวเรือน: ขอบหมุนได้แบบทิศทางเดียวทำจาก 904L Steel แต่งด้วยเซรามิกสีดำ(Cerachrom) บนขอบมีตัวเลขอารบิกและขีดบอกเวลา 60 นาที ตัวเลขและขีดดังกล่าวนี้เคลือบแพลทินัมโดยใช้วิธี Physical Vapor Deposition(PVD) ของ Rolex เป็นการเคลือบโดยการผลิตไอจากโลหะชนิดหนึ่ง ซึ่งในที่นี้คือแพลทินัม ลงบนพื้นผิววัสดุเพื่อให้เกิดเป็นตัวอักษรต่างๆ เช่น ตัวเลขบนขอบของ Rolex Sea-Dweller Deepsea Challenge การเคลือบแบบ PVD นี้จะทนทานและจางลงได้ยาก ถึงแม้จะผู้สวมใส่จะมีไลฟ์สไตล์แบบลุยๆ


B. วงแหวนไทเทเนียม: วงแหวนทำจากไทเทเนียม เป็นกำแพงกั้นน้ำและรองรับแรงดัน


C. ตัวเรือน: ตัวเรือนขนาด 51.4 มม. ความหนารวมกระจกและฝาหลัง 28.5 มม. ทำจาก 904L Steel


D. กระจกหน้าปัด: หน้าปัดคริสตัลแซฟไฟร์แบบสังเคราะห์หนา 14.3 มม.


E. ปะเก็นกระจกหน้าปัด: ปะเก็นรองรับตัวกระจกหน้าปัด


F. ระบบ Ring Lock: วงแหวนยึดกระจกหน้าปัดทำจาก Nitrogen-alloyed Steel ในนาฬิกาปกติจะไม่มีชิ้นส่วนนี้ Ring Lock เป็นหนึ่งในชิ้นส่วนสำคัญที่ทำให้ Rolex Sea-Dweller Deepsea Challenge สามารถกันน้ำลึกและทนทานต่อแรงดันสูงได้เป็นพิเศษ


G. หน้าปัด: หน้าปัดเคลือบแลคเกอร์สีดำ หลักที่ใช้เป็นหลักทรงกลม สามเหลี่ยมและหลักขีด หลักเหล่านี้ถูกเคลือบเรืองแสงแบบ Chromalight เมื่ออยู่ในที่แสงน้อย สารเคลือบนี้เรืองแสงเป็นสีฟ้า ต่างจาก SuperLuminova แบบเก่าที่เรืองแสงเป็นสีเขียวเมื่ออยู่ในที่มืด Chromalight มีความสว่างกว่าและอ่านง่ายกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับสารเรืองแสงชนิดอื่น


H. ปะเก็นฝาหลัง: ปะเก็นทำหน้าที่เป็นด่านกั้นน้ำ ถูกประกอบอยู่ที่ขอบด้านในของฝาหลัง


I. ฝาหลัง: ฝาหลังทำจาก Grade 5 Titanium ไทเทเนียมชนิดนี้ทนได้ต่อหลายสภาวะ เช่น น้ำทะเลและอุณหภูมิที่สูงถึง 800 ฟาเรนไฮต์ หรือ 426 องศาเซลเซียส


หากสังเกตเมื่อเทียบมิติต่าง ๆ ของ Deepsea ทั้งสามเรือน จะได้สังเกตได้ว่า Deepsea 1960 จะมีความกว้างเพียง 42.7 มม ซึ่งเป็นความกว้างปกติของนาฬิกาสมัยนี้ แต่มีความหนารวมถึง 36 มม. เพราะเพียงแค่ความหนาของกระจก Plexiglass ก็หนาถึง 18 มม. ไม่สามารถใส่ได้จริง ส่วน Deepsea 2008 เป็นนาฬิกาที่ผลิตมาจำหน่ายทั่วไป มีความกว้าง 44 มม. กระจกหนา เพียง 5.5 มม.และหนารวม 17.7 มม. แต่ก็สามารถกันน้ำได้ลึกถึงเกือบ 4 กิโลเมตร และเรือนสุดท้าย Deepsea Challenge 2012 ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อความลึกระดับเกิน 10 กิโลเมตรอีกครั้ง ก็ไม่สามารถลดขนาดของกระจกหน้าปัดลงได้มากนัก อาจจะเพราะเปลียนมาใช้กระจกแบบ Sapphire เลยทำให้ลดความหนาได้เล็กน้อยอยู่ที่ 14.3 มม. แต่ด้วยตัวเรือนขนาด 51.4 มม. และหนารวม 28.5 มม. ก็อาจจะมีการทดลองใส่ให้เห็นกันตามสื่อต่าง ๆ

ตารางเปรียบเทียบคุณสมบัติของ Deep Sea Special (ซ้าย) Rolex Sea-Dweller Deepsea (กลาง) และ Rolex Sea-Dweller Deepsea Challenge (ขวา)

Helium Escape Valve (HEV) ที่หายไป


จากบทความตอนที่แล้วที่เราได้อธิบายที่มาของการมีวาล์วปล่อยก๊าซฮีเลียม หรือ HEV เนื่องจากการใช้ชีวิตในถังปรับความดันขณะดำน้ำลึก ที่เกินกว่า 30 เมตร นักประดาน้ำจะต้องใช้ก๊าซที่ชื่อว่า "Heliox" ที่ใช้ก๊าซฮีเลียมผสมกับออกซิเจน เพื่อให้ฮีเลียมพาออกซิเจนเข้าสู่ปอด และกระแสเลือดแทนไนโตรเจน ในการดำน้ำแบบอิ่มตัว (Saturation Dive) ซึ่งหากระยะเวลาในการอยู่ในบรรยากาศ Heliox นี้นานพอที่ก๊าซฮีเลียมซึมเข้าสู่ตัวเรือนนาฬิกา ถึงแม้ว่า Rolex จะมีการผนึกตัวเรือนแบบ Oyster ก็ตาม เมื่อมีการลดระดับขึ้นสู่ผิวน้ำ ก๊าซฮีเลียมที่ยังค้างอยู่ในตัวเรือนนาฬิกานี้ จะขยายตัว จนทำให้กระจกหน้าปัดระเบิดออกมาจากตัวเรือน และอาจจะสร้างความเสียหายให้กับนาฬิกาได้


สิ่งที่เราอาจจะต้องประหลาดใจคือ นาฬิการะดับ Ultra Deep Dive ทุกเรือน ไม่ได้ติดตั้งวาว์ลปล่อยแรงดันก๊าซฮีเลียมนี่เลย ทั้ง ๆ ที่อยู่ในตระกูล Sea-Dweller Deepsea ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น


ก็เพราะในท้องมหาสมุทร ไม่มีก๊าซฮีเลียม หรืออาจจะมีแต่ก็อยู่ในปริมาณที่ไม่ส่งผลกระทบใด ๆ ต่อนาฬิกาแบบเดียวกับห้องปรับความดัน Heliox หากภารกิจการดำน้ำนี้ไม่ได้มีความเกี่ยวพันกับห้องปรับความดันโดยตรง หรือระยะการดำน้ำด้วย Heliox ไม่นานนัก นาฬิกานั้น ๆ ก็ไม่จำเป็นต้องมีวาว์ลปล่อยก๊าซฮีเลียม


ในทางกลับกัน หากภารกิจนั้น แม้จะดำน้ำลงไปลึกแค่เพียง 100 เมตร และมีการใช้ Heliox เป็นอากาศสำหรับการหายใจ และเป็นระยะเวลานานพอที่จะทำให้ก๊าซฮีเลียมซึมเข้าไปในตัวเรือนนาฬิกา เมื่อมีการขึ้นสู่ผิวน้ำ ดำเนินไปอย่างรวดเร็วจนก๊าซฮีเลียมขยายตัวแต่ไม่มีทางออกจากตัวเรือนนาฬิกา กระจกหน้าปัดก็จะระเบิดออกจึงต้องมีการติดตั้งวาว์ลปล่อยก๊าซ เข้าไปในตัวเรือนด้วย


เมื่อเราเข้าใจเรื่องหน้าที่ของวาล์วปล่อยแรงดันและเหตุผลที่ไม่จำเป็นต้องมี HEV ในนาฬิการะดับ Ultra Deep Dive คราวนี้ตัดภาพไปที่ความหนาของกระจกหน้าปัดใน Rolex Sea-Dweller Deepsea Challenge ที่หนาถึง 14.3 มม. หรือประมาณความหนาของนาฬิกา Submariner ทั้งเรือน ด้วยความหนาขนาดนี้ ทำให้ Rolex Sea-Dweller Deepsea Challenge สามารถผ่านการทดสอบได้โดยไม่เกิดความเสียหายใดต่อกระจกหน้าปัด การทดสอบนี้ใช้ความดัน 1,500 บาร์ (บาร์ คือหน่ายวัดความดัน) ความดันดังกล่าวมีค่าเท่ากับนำแท่งเหล็กหน้าตัด 1 ตารางนิ้ว ที่มีน้ำหนักราว 17 ตันไปวางไว้บนหน้าปัด เรานำภาพ spectrum สีที่อยู่ด้านล่าง เป็นภาพของ Rolex Sea-Dweller Deepsea Challenge ขณะที่ถูกทดสอบโดยการจำลองสถานที่ที่มีแรงดันเท่ากับระดับลึก 15,000 เมตร สีต่างๆที่ท่านเห็นในภาพบ่งบอกถึงอัตราแรงที่มีผลต่อนาฬิกา (Scale Of Stress Levels) เรียงระดับจากศูนย์ที่แทนด้วยสีฟ้าไปยังสีแดงที่เป็นตัวแทนของระดับสูงสุด แรงดันที่มีผลต่อกระจกหน้าปัด ตัวเรือนและฝาหลังอยู่ในระดับสีฟ้า แรงดันที่มีผลต่อ Ring Lock System อยู่ระดับสีเขียว ตีความจากสเปกตรัมแถบสีด้านล่าง หมายความว่าทั้งสองสีนี้เป็นระดับที่ยังปลอดภัย ถึงแม้ระดับสูงสุดที่เราสังเกตได้จากภาพ ยังเป็นเพียงแค่สีเหลือง ดังนั้นสิ่งนี้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า Rolex Sea-Dweller Deepsea Challenge ยังอยู่รอดปลอดภัยได้โดยที่ไม่ต้องกังวลเรื่องกระจกหน้าปัด

ภาพแสดง Scale of Stress Level

นอกจากนี้ เมื่อเราสังเกตคุณสมบัติของ Rolex Deep Sea Special ที่ถูกใช้ในปี 1960 จะเห็นได้ว่ามันไม่ได้มีคุณสมบัติหรือใช้นวัตกรรมใดเป็นพิเศษ ในรูปแบบขององค์ประกอบ เช่น Ring Lock System, กระจกหน้าปัดจากคริสตัลแซฟไฟร์ หรือฝาหลังที่ทำขึ้นจากไทเทเนียมเหมือนใน Rolex Sea-Dweller Deep Sea 2008 และ Rolex Sea-Dweller Deepsea Challenge 2012 แต่ DSS เป็นตัวเรือนแบบ Oyster ธรรมดา ๆ ตามแบบฉบับและกระจกหน้าปัด Plexiglass ที่หนาถึง 18มม. อย่างไรก็ตาม DSS รุ่นเก๋าก็ยังสามารถกันน้ำได้ที่ระดับความลึกถึง 10,916 เมตร เป็นความลึกที่เต็มไปด้วยแรงดันมหาศาล จึงเป็นอีกหนึ่งบทสรุปที่มาสนับสนุนความจำเป็นที่ว่าความหนาของหน้าปัดยังมีผลต่อความสามารถในการรับมือกับแรงดันน้ำ และไม่จำเป็นต้องพึ่งอาวุธลับอย่าง HEV เพราะ HEV เป็นเครื่องมือที่ออกแบบมาสำหรับการดำน้ำแบบ Saturation Dive ที่ใช้ก๊าซ Heliox เท่านั้น จึงไม่จำเป็นต่อนาฬิกาสำหรับดำน้ำทั่วไปแต่อย่างใด

กระจกหนา 18 มม. ของ DSS (ซ้าย) / กระจกหนา 14.4 มม. ของ Rolex Sea-Dweller Deepsea Challenge (ขวา)

Rolex Sea-Dweller Deepsea D-Blue รางวัลแห่งความสำเร็จ

Rolex Sea-Dweller Deepsea D-Blue (ซ้าย) HEV ที่อยู่ด้านข้างของตัวเรือน (ขวา)

นาฬิกาที่ใช้ในภารกิจดำน้ำ Deep Sea Challenge Expedition ในปี 2012 เป็นเพียงนาฬิกาทดลองที่ใช้ในปฏิบัติการพิเศษ ไม่ได้ถูกผลิตออกมาวางจำหน่ายทั่วไป หรือถ้ามีขาย ก็คงจะไม่ค่อยมีใครกล้าซื้อมาใส่ในชีวิตประจำวัน แต่หลังจากภารกิจดำน้ำของ James Cameron สำเร็จและโด่งดังไปทั่วโลก Rolex ได้ผลิตนาฬิกาเพื่อเป็นการระลึกถึงการผจญภัยใต้น้ำแบบฉายเดี่ยวของผู้กำกับดัง นาฬิการุ่นดังกล่าวคือ Rolex Sea-Dweller Deepsea D-Blue ถูกเปิดตัวในปี 2014 โดยการนำเอา Rolex Sea-Dweller Deepsea ที่เปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2008 มาเปลี่ยนหน้าปัดใหม่ ไล่ระดับสีตามชั้นความลึกของมหาสมุทร พร้อมตัวหนังสือ DEEPSEA สีเขียวตองอ่อนที่เพิ่มขึ้นมาอีก 1 บรรทัด

โครงสร้างตัวเรือน Rolex Sea-Dweller Deep Sea D-Blue

Rolex Sea-Dweller ทุกรุ่น ไม่ว่าจะเป็น Sea-Dweller 4000, Deepsea, Deepsea D-Blue รวมถึงแม้แต่จ้าวสมุทรแบบ Deepsea Challenge ใช้เครื่องรุ่นเดียวกับ Rolex Submariner คือ Caliber 3135 ซึ่งปัจจุบันได้ upgrade มาเป็น Caliber 3235 แล้ว กลไกลานอัตโนมัติ แฮร์สปริง Parachrom สีฟ้าที่มีความสามารถในการต้านสนามแม่เหล็ก หมายความว่านาฬิกาเรือนนี้มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากสนามแม่เหล็กรอบข้างได้น้อย ไม่ว่าจะเป็นคลื่นสนามแม่เหล็กจากมือถือหรือแม่เหล็กที่อยู่กับกระเป๋าสะพาย คลื่นแม่เหล็กจากสิ่งของเหล่านี้จะมีผลกระทบต่อระบบกลไกภายในนาฬิกา หากชิ้นส่วนต่างๆของกลไกทำขึ้นจากเหล็กทั่วไป


ตามแบบฉบับของนาฬิกา Rolex Sea-Dweller ก็ต้องมาพร้อมกับขอบนาฬิกาแบบหมุนได้ ใน Deepsea D-Blue ก็เช่นกัน ใช้เป็นขอบหน้าปัดทำจากเซรามิกสีดำ (Cerachrom) ที่ทนรอยขีดข่วนได้ดี บนขอบมีขีดและหลักอารบิกแสดงเวลา 60 นาทีที่ผู้สวมใส่สามารถใช้จับเวลาได้ ตัวเลขและข้อความบนขอบเคลือบด้วยแพลทินัม และอีกหนึ่งสิ่งที่ต้องสะดุดตาทุกคนอย่างแน่นอน คือ สีของหน้าปัดที่ถูกเรียกว่าหน้าปัด “D-Blue” เป็นสีที่ถูกจัดทำขึ้นมาเป็นพิเศษเพื่อเฉลิมฉลองและเพื่อเป็นเกียรติแก่การดำน้ำครั้งประวัติศาสตร์ของ James Cameron ที่ลงไปสู่ Challenger Deep ก้นมหาสมุทรที่ลึกที่สุดในโลกเพียงลำพัง สีฟ้าเปรียบเป็นผิวน้ำทะเลไล่ไปยังก้นมหาสมุทรที่มืดมิดจนกลายเป็นสีดำ หลักชั่วโมงที่ใช้เป็นแบบเคลือบเรืองแสง มีรูปทรงกลม ทรงสามเหลี่ยมและแบบขีด

ขอบหน้าปัด Cerachrom (ซ้าย) / หน้าปัดไล่สี D-Blue (ขวา)

-------------


เราได้เดินทางมาสู่ตอนจบของการผจญภัยใต้น้ำของ Rolex เป็นที่เรียบร้อยแล้วค่ะ คงได้อิ่มเอมกับเรื่องราวครั้งประวัติศาสตร์ที่ Rolex ได้ร่วมแทคทีมกับหลายบุคคลในตำนานไม่ว่าจะเป็น Mercedes Gleitze นักว่ายน้ำสาวชาวอังกฤษที่ลงไปว่ายน้ำข้ามช่องแคบอังกฤษเป็นคนแรก พร้อมกับ Rolex Oyster, Jacques Piccard และ Lt. Don Walsh หรือ James Cameron ผู้กำกับหนังชื่อดังมากความสามารถ และที่สำคัญ คือการได้รู้จักกับระบบของนาฬิกาสำหรับดำน้ำของ Rolex อย่าง Helium Escape Valve(HEV) ที่ทำให้เรือนเวลาของท่านอยู่รอดปลอดภัยเมื่อต้องนำไปเผชิญกับการดำน้ำลึกใต้มหาสมุทร อย่างไรก็ตาม HEV อาจไม่ใช่หัวใจหลักของนาฬิกาดำน้ำขนาดนั้น เพราะ นาฬิการุ่นเก๋าอย่าง Rolex Deep Sea Special ของปี 1960 และ Rolex Sea-Dweller Deepsea Challenge ที่ได้ดำดิ่งไปยังก้นมหาสมุทรกับ Cameron ก็พิสูจน์ให้เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าสามารถทนต่อแรงดันน้ำและไม่ได้มีปัญหาเรื่องก๊าซฮีเลียมแต่อย่างใด ดังนั้น หากท่านกำลังวางแผนที่จะหาซื้อนาฬิกาสำหรับใส่ดำน้ำ อย่าลืมแชร์บทความนี้ให้เพื่อนเพื่อความเข้าใจที่ลึกซึ้งเกี่ยวกับ Sea-Dweller นะคะ


อ้างอิงจาก


https://beckertime.com/blog/the-history-of-rolex-dive-watches/

https://newsroom-content.rolex.com/-/media/project/rolex/newsroom/rolex/rolex-newsroom-int/watches/thematic-presskit/rolex-Deep Sea-challenge/en_02_rolex_Deep Seachallenge_2020_en.pdf

https://www.bobswatches.com/rolex-blog/resources/helium-release-valve-work-need-one.html

https://www.ana-digi.com/helium-valve/

https://en.wikipedia.org/wiki/Helium_release_valve

https://www.thehourglass.com/th/new-watch/50-years-of-the-rolex-sea-dweller/

https://www.bobswatches.com/watch-resources/pvd-and-dlc-coating-worth-it

https://millenarywatches.com/rolex-chromalight/

http://www.Deep Seachallenge.com/the-sub/then-and-now/

https://www.nationalgeographic.com/news/2012/3/120325-james-cameron-mariana-trench-challenger-deepest-returns-science-sub/

https://www.rolex.com/th/watches/sea-dweller/m126660-0002.html

https://www.sanook.com/movie/31738/

https://www.ana-digi.com/sapphire-acrylic-mineral/

https://www.imdb.com/name/nm0000116/bio?ref_=nm_ov_bio_sm

コメント


Featured Posts
Recent Posts
bottom of page