top of page

Omega Speedmaster /Silver Snoopy Award: รางวัลแห่งความสำเร็จ กับภารกิจที่พลิกผัน


2020: Omega Speedmaster Silver Snoopy Award

ตัวการ์ตูนสุนัขพันธุ์บีเกิ้ลสีขาวกับลายเส้นที่คุ้นตา เป็นที่รู้จักกันในชื่อ ‘Snoopy’ การปรากฏตัวอยู่บนหน้าปัดนาฬิกา Omega Speedmaster อาจทำให้หลาย ๆ คนคิดสงสัยถึงความเชื่อมโยงระหว่างสองสิ่งนี้ และยิ่งจะทึ่งไปกว่าเดิมเมื่อรู้ว่า Snoopy ถูกเลือกโดย NASA ให้เป็นสัญลักษณ์ของรางวัลอันทรงเกียรติ ซึ่งไม่ใช่รางวัลที่มอบกันดาษดื่น เพราะมีผู้ได้รับน้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์จากเจ้าหน้าที่ใน NASA ทั้งหมด

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว Omega ทำอย่างไรจึงได้ Silver Snoopy Award มาครอบครอง บทความนี้จะพาทุกท่านไปถึงห้วงอวกาศ และพบคำตอบที่เชื่อมโยงกันด้วย Snoopy

จุดเริ่มต้นการร่วมงานของ Snoopy กับ NASA

Snoopy เป็นหนึ่งในตัวละครจากเรื่อง Peanuts วาดโดยชาร์ล เอ็ม. ชูลซ์ (Charles M. Schulz) นักวาดการ์ตูนชาวอเมริกัน หลังจากเผยแพร่ครั้งแรกในปี 1950 ผ่านไป 9 ปีตรงกับช่วงเวลาที่มนุษย์ตื่นตัวกับการออกไปนอกโลก ชูลซ์เริ่มวาดการ์ตูนในธีมการไปดวงจันทร์ สร้างความตื่นเต้นให้แก่ผู้อ่านเกี่ยวกับภารกิจของ NASA การกระทำนี้เกิดจากความชอบและความสนใจส่วนตัวของเขาที่หลงใหลในอวกาศ หลังจากนั้น เมื่อเข้าสู่ทศวรรษ 1960s NASA ก็ร่วมงานกับชูลซ์อย่างเป็นทางการ โดยให้ Snoopy เจ้าสุนัขช่างฝันเป็นมาสคอตขององค์กร

แต่ชื่อ Snoopy ยังมีเรื่องราวที่สำคัญมากกว่านั้น เพราะในภารกิจ Apollo 10 ที่เริ่มออกเดินทางสู่ดวงจันทร์ในปี 1969 เพื่อวางรากฐานให้กับการลงจอดของ Apollo 11 ได้ใช้ยานลงดวงจันทร์ไป “snoop around” แปลว่าสอดแนม หรือ สอดส่องพื้นผิวดวงจันทร์ นักบินจึงเรียกยานส่วนนี้ว่า ‘Snoopy’ และให้ยานควบคุมชื่อ ‘Charlie Brown’ ซึ่งเป็นเจ้านายของเจ้าสุนัขตัวนี้

Omega Speedmaster กับรางวัล Silver Snoopy Award

แรกเริ่มเดิมที Omega ได้ร่วมภารกิจไปอวกาศมาหลายครั้งในโครงการก่อนหน้า จนมาถึง Apollo ที่เป็นภารกิจส่งมนุษย์ไปสำรวจดวงจันทร์ของสหรัฐอเมริกา ความทะเยอทะยานนี้มาจากประธานธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี้ที่ประกาศว่าจะต้องส่งชาวอเมริกันไปยังดวงจันทร์ให้ได้ภายในทศวรรษ 1960s สาเหตุก็เพราะต้องการให้ประเทศตามทันและแซงหน้ารัสเซียด้านวิทยาการอวกาศ

ตัดภาพมาที่ NASA มีการคัดเลือกนาฬิกาเพื่อมาใช้ในภารกิจ และผู้คัดเลือกคือ เจมส์ เรแกน (James Ragan) วิศวกรของ NASA เขากล่าวถึงความสำคัญของนาฬิกาว่า “นาฬิกาเป็นตัวช่วยที่สำคัญมาก หากนักบินอวกาศเกิดสูญเสียความสามารถในการพูดคุยกับภาคพื้นดิน หรือความสามารถในการจับเวลาแบบดิจิทัล สิ่งเดียวที่พวกเขาต้องพึ่งพาคือนาฬิกาบนข้อมือ” และผู้ที่ได้รับเลือกคือ Omega Speedmaster

Apollo 13 ออกเดินทางวันที่ 11 เมษายน ปี 1970 เมื่อยานบินทะลุผ่านชั้นบรรยากาศไปได้ 55 ชั่วโมง ห่างจากโลกประมาณ 330,000 กิโลเมตร ตรงกับวันที่ 14 เมษายน 10 โมงเช้าประเทศไทย แจ็ค สแวกเกิร์ต (Jack Swigert) ได้รับคำแนะนำจากศูนย์บังคับการภาคพื้นดินให้กวนถังออกซิเจน แต่วินาทีต่อมา อุบัติเหตุใหญ่ก็เกิดขึ้น ถังออกซิเจนในยานบริการระเบิดส่งผลให้ออกซิเจน เชื้อเพลิง และแบตเตอรี่มีไม่พอที่จะไปต่อ ภารกิจสู่ดวงจันทร์ยกเลิกทันทีและสิ่งที่สำคัญที่สุดในตอนนี้ คือ การมีชีวิตรอดกลับไปยังโลกให้ได้

ส่วนประกอบของ Apollo 13


เหล่านักบินต้องปิดระบบยานควบคุมเพื่อประหยัดพลังงานที่เหลืออยู่ ซึ่งก็เสี่ยงมากว่ามันจะกลับมาเปิดอีกครั้งตอนจะกลับบ้านได้หรือไม่ ยานอวกาศ Apollo ถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ยานบริการ (Service Module) เป็นที่เก็บพลังงานไฟฟ้าและถังออกซิเจน หรือเรียกง่าย ๆ ว่านี่เป็นแหล่งเชื้อเพลิง ต่อมา คือ ยานควบคุม (Command Module) ในภารกิจนี้ถูกตั้งชื่อว่า Odyssey (โอดิสซี) เป็นส่วนที่นักบินจะอยู่ และใช้กลับโลกเพราะมีแผ่นกันความร้อน ส่วนสุดท้าย คือ ยานลงดวงจันทร์ (Lunar Module) ตั้งชื่อว่า Aquarius (อควอเรียส) มีไว้เพื่อให้ลูกเรือขับลงจอดบนดวงจันทร์ มีออกซิเจนและพลังงานอยู่ในตัว แต่ไม่มีแผ่นกันความร้อน


เส้นทางการไปและกลับของ Apollo 13

เมื่อทุกอย่างไม่เป็นตามแผน นักบินทั้งสามต้องย้ายจากยานควบคุมไปอยู่ที่ยานลงดวงจันทร์ เพราะมีเชื้อเพลิงและออกซิเจนให้ใช้ แล้วอาศัยวิธี Free-return trajectory ซึ่งเป็นการใช้แรงดึงดูดของดวงจันทร์เหวี่ยงยานกลับสู่โลก แต่เพราะยานลงดวงจันทร์ไม่มีระบบนำทาง ทำให้ยานเริ่มออกนอกเส้นทางที่วางไว้ นักบินอวกาศร่วมกับภาคพื้นดินจึงต้องคำนวณค่าเองทั้งหมดเพราะเวลานั้นไม่มีอุปกรณ์ดิจิทัลใด ๆ เหลืออยู่ ผู้บัญชาการจิม โลเวลล์ (Jim Lovell) เป็นคนคุมทิศทางและแจ็ค สแวกเกิร์ต (Jack Swigert) เป็นคนจับเวลาการเปิดจรวดขับดันด้วย Omega Speedmaster Professional บนข้อมือเขา ที่คำนวณแล้วว่าต้องเป็น 14 วินาทีเท่านั้น ไม่ขาดและไม่เกิน เพื่อให้ยานกลับเข้าเส้นทางเดิมและเข้าสู่ชั้นบรรยายกาศโลกในมุมที่ถูกต้อง และแล้ว 1 ชั่วโมงก่อนแตะผิวโลก ก็ได้เวลาบอกลายานบริการและยานลงดวงจันทร์ เหลือเพียงยานควบคุมที่พาเหล่านักบินกลับสู่โลกได้อย่างปลอดภัย

แม้เป็นเพียงอุปกรณ์ Back Up แต่กลับมีคุณค่ายิ่งใหญ่ จากเหตุการณ์นี้ Omega จึงได้รับรางวัล Silver Snoopy Award จาก NASA ในเดือนตุลาคม ปี 1970 เพื่อเป็นเครื่องหมายแสดงความขอบคุณที่มีส่วนร่วมในความสำเร็จของภารกิจการบินสู่อวกาศของมนุษย์ โดยคนต้นคิดรางวัลนี้คือ อัล ช็อบ (Al Chop) ผู้อำนวยการ Manned Spacecraft Center (ปัจจุบันคือ Lyndon B. Johnson Space Center) เขาต้องการสร้างรางวัลที่มี Snoopy ในชุดนักบินอวกาศเพื่อเป็นการยกย่องผลงานที่โดดเด่นของพนักงานหรืองค์กรภายนอก ซึ่งชูลส์ผู้สร้างการ์ตูนตัวนี้ก็อนุญาตและออกแบบเข็มกลัดรางวัลรูป Snoopy โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ

Omega Silver Snoopy Award ครบรอบ 50 ปี

นับตั้งแต่การเสร็จสิ้นภารกิจ Apollo 13 ปี 1970 จนถึงวันนี้ปี 2020 ถึงวาระครบรอบ 50 ปีที่ทาง Omega ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติ และที่ผ่านมา Omega Snoopy ได้ออกมาเพียง 3 รุ่นด้วยกัน รุ่นแรกเปิดตัวเมื่อปี 2003 หรือ 33 ปีให้หลังจากวันที่ได้รางวัล คือ Omega Speedmaster Professional Snoopy Ref. 3578.51 ทำออกมาจำนวนจำกัด 5,441 เรือนเท่านั้น โดยจำนวนการผลิตนี้ มาจากเวลาทั้งหมดของภารกิจ Apollo 13 ที่นานถึง 142 ชั่วโมง 54 นาทีและ 41 วินาที ไฮไลท์คือมีโลโก้ของรางวัล Snoopy ของ NASA บนพื้นหลังสีน้ำเงิน ทั้งในหน้าปัดย่อยและหลังตัวเรือน


2003: Omega Speedmaster Professional (ซ้าย) 2015: Omega Speedmaster Apollo 13 Silver Snoopy Award (ขวา)

ต่อมาเมื่อครบรอบ 45 ปี ก็เปิดตัว Omega Speedmaster Apollo 13 Silver Snoopy Award ref. 311.32.42.30.04.003 ในปี 2015 แน่นอนว่ายังเป็นรุ่น Limited ผลิตเพียง 1,970 เรือน เดาไม่ยากว่าอ้างอิงมาจากปีที่ได้รับรางวัล สิ่งที่ทำให้ระลึกถึง Apollo 13 คือ ข้อความ “Failure is not an option” ในก้อนความคิดของ Snoopy และ “What could you do in 14 seconds?” ตรงขอบจับเวลา Tachymètre

และในปี 2020 นี้ Omega ได้เฉลิมฉลอง 50 ปีด้วยการเปิดตัว Omega Speedmaster “Silver Snoopy Award” ref. 310.32.42.50.02.001 โดยรุ่นนี้ไม่ได้ผลิตในจำนวนจำกัดอย่าง 2 รุ่นแรก รูปลักษณ์ของนาฬิกาได้รับแรงบันดาลใจจากนาฬิกาเรือนแรกที่สวมใส่บนดวงจันทร์ หน้าปัดสีเงินขนาด 42มม. สลักด้วยเลเซอร์ Ag925 ตัวเรือนทำจากสแตนเลสสตีล หน้าปัดย่อยสีน้ำเงิน 3 ตำแหน่ง โดยมี Snoopy รูปแบบเดียวกับเข็มกลัดรางวัล Silver Snoopy Award ที่สวมชุดนักบินอวกาศ ตรงหน้าปัดย่อยตำแหน่ง 9 นาฬิกา รวมถึงขอบเซรามิก Tachymeter สีน้ำเงินสอดรับกับสายไนล่อนสีเดียวกัน และเมื่อพลิกสายข้างในดู ก็จะเห็นเส้นทางการไปและกลับของยาน Apollo 13 ด้วย

2020: ด้านหลังOmega Speedmaster “Silver Snoopy Award” 50th anniversary

นอกจากนี้ ด้านหลังตัวเรือนยังโชว์ความงดงามของห้วงอวกาศเบื้องล่างกระจกแซฟไฟร์ ซีกหนึ่งของดวงจันทร์พาดผ่านไปเกือบครึ่งของหน้าปัด พร้อมลูกโลกที่หมุนครบรอบทุก ๆ 1 นาที ความพิเศษอีกอย่างคือมี Snoopy นั่งอยู่ในยานควบคุมและยานบริการที่ปลายเข็มด้านใน เมื่อใช้ฟังก์ชั่นจับเวลา เจ้าบีเกิ้ล Snoopy กับยานอวกาศจะเดินทางรอบดวงจันทร์จากอีกฟากหนึ่งไปสุดอีกฟากหนึ่งภายใน 14 วินาที ซึ่งแน่นอนว่าเป็นตัวเลขจากการคำนวณเวลาเผาไหม้เชื้อเพลิงของนักบินอวกาศ กลไกที่แสนน่าทึ่งและเต็มไปด้วยรายละเอียดขับเคลื่อนด้วย Cal. 3861 เป็นเครื่องรุ่นใหม่ล่าสุดของ Moonwatch ที่ใช้เวลา 4 ปีในการพัฒนา

-------------------------

จากเรื่องราวทั้งหมดนี้ การได้เห็น Snoopy ปรากฏบนหน้าปัด Omega จึงเป็นการย้อนรำลึกถึงเหตุการณ์ในห้วงอวกาศที่พลิกผันและยากที่แก้ไข แต่ด้วยความสามารถ สติปัญญาและความร่วมมือของมนุษย์ที่เฉียบแหลมและแม่นยำ ประกอบกับนาฬิกา Omega Speedmaster ที่ทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์แบบ จน Apollo 13 เปลี่ยนการจดจำ จากการเป็นภารกิจที่ล้มเหลว กลายมาเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ดีที่สุดของ team work ดังที่จิม โลเวลล์ ผู้บัญชาการยานอวกาศของ Apollo 13 เคยได้กล่าวไว้

อ้างอิง

https://www.professionalwatches.com/omega-speedmaster-silver-snoopy-award-50th-anniversary/

https://www.omegawatches.com/watches/speedmaster/moonwatch/silver-snoopy-award-50th-anniversary/product

https://history.nasa.gov/moondec.html

Comments


Featured Posts
Recent Posts
bottom of page