Minute Repeater Watches เสียงระฆังจากข้อมือ
ฟังก์ชั่นซับซ้อนของนาฬิกาจักรกลคือสิ่งที่พิสูจน์ศักยภาพของมนุษย์ในอดีต และผู้คนสมัยนี้ได้ยกย่องคุณค่าสิ่งเหล่านี้ ด้วยการตีราคาที่สูงลิ่ว แต่ครั้งหนึ่งนวัตกรรมเหล่านี้ถูกมองว่าไม่จำเป็นและนาฬิกาจักรกลเองก็กำลังจะหายไปเมื่อโลกได้รู้จักกับนาฬิกาควอทซ์ที่ใช้แบตเตอรี่ ทุกอย่างเปลี่ยนไปเมื่อฟังก์ชั่นซับซ้อนหลายอย่างถูกบรรจุใส่ลงนาฬิกาข้อมือเรือนเล็ก ๆ พร้อมกับการประกอบปรับแต่งด้วยความประณีตชั้นครู จนสามารถดึงให้นาฬิกาจักรกลกลับเข้ามาบนข้อมือของผู้มองเห็นคุณค่าของมันอีกครั้งในมิติของงานศิลปะชั้นสูง
หนึ่งในความซับซ้อนขั้นสุดนั้น คือการทำ Minute Repeater ฟังก์ชั่นนาฬิกาที่บอกเวลาด้วยเสียงระฆังทุกครั้งที่ผู้สวมใส่ต้องการ ฟังก์ชั่นนี้ได้ชื่อว่าทำยากมากที่สุดในโลกของนาฬิกาจักรกล และเมื่อปรากฎตัวครั้งใดก็มีราคาก็สูงกว่าฟังก์ชั่นซับซ้อนประเภทอื่น บทความนี้จะพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับ Minute Repeater ให้ลึกขึ้นว่ามีจุดกำเนิดของฟังก์ชั่นซับซ้อนนี้เป็นมาอย่างไร รวมไปถึงการทำงานและรุ่นต่าง ๆ ที่น่าสนใจ
ที่มาและจุดประสงค์ของการสร้าง Minute Repeater
Minute Repeater จัดเป็นหนึ่งในฟังก์ซับซ้อนขั้นสูง (Grand Complication) ของนาฬิกา ที่บอกเวลาผ่านเสียงระฆัง แต่มันไม่ได้บอกเวลาอัตโนมัติโดยการตีระฆังทุก ๆ ชั่วโมงเหมือนหอนาฬิกาประจำเมืองอย่าง Big Ben หรือแบบนาฬิกานกแขวนผนังที่ยื่นหน้าออกมาร้องทุก ๆ ชั่วโมง แต่ Minute Repeater จะส่งเสียงเมื่อผู้ใช้อยากรู้เวลาขณะ ในนาทีนั้น ๆ ผ่านการเลื่อนหรือกดปุ่มข้างตัวเรือน ให้ระบบการบอกเวลาด้วยเสียงทำงาน ความยากอยู่ตรงที่ทำอย่างไรนาฬิกาจักรกล โดยเฉพาะอย่างยิ่งขนาดที่สวมใส่บนข้อมือได้ จะรู้เวลาขณะนั้นและบอกเวลาด้วยเสียงระฆังที่ถูกต้อง นี่คือนวัตกรรวมที่ถือกำเนิดขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 17 หรือกว่า 350 ปีก่อนซึ่งต้องใช้ชิ้นส่วนกว่าร้อยชิ้นและถึงแม้ในยุคปัจจุบันจะมีเทคโนโลยีเข้าช่วยมากเพียงใดก็ตาม การสร้างยังคงต้องอาศัยการปรับแต่งจากมือของช่างนาฬิกามากประสบการณ์เท่านั้น จึงทำให้นาฬิกา Minute Repeater อยู่ในกลุ่มของกลไกที่สร้างได้ยากระดับสูงสุด
Minute Repeater มีวิวัฒนาการมาจาก Repeater ซึ่งก็เป็นฟังก์ชั่นที่มีวิธีการบอกเวลาด้วยการเคาะส่งเสียงเหมือนกัน แต่ต่างกันตรงที่ไม่สามารถบอกละเอียดถึงระดับหลักนาทีอย่าง Minute Repeater สำหรับ Repeater แล้วนวัตกรรมนี้ถูกประดิษฐ์ขึ้นครั้งแรกโดยนักบวชและช่างนาฬิกาอังกฤษนามว่า เอ็ดวาร์ด บาร์โลว (Edward Barlow) เขาใช้กลไกการตีระฆังที่ชื่อว่า Rack and Snail และใช้มันกับนาฬิกาตั้งโต๊ะและนาฬิกาแขวน ความล้ำหน้าของกลไกในวันนั้นกลายมาเป็นมาตรฐานของนาฬิกา Repeater จวบจนถึงทุกวันนี้ ไม่กี่สิบปีหลังจากนั้นนวัตกรรมของเขาก็ถูกนำมาต่อยอดโดยช่างนาฬิกาชาวอังกฤษ แดเนียล แควร์ (Daniel Quare) เขานำฟังก์ชั่นนี้ใส่ลงในนาฬิกาพกและจดสิทธิบัตรในปี 1687 ทำให้เขาได้ชื่อว่าเป็นผู้ประดิษฐ์นาฬิกาพก Quarter Repeater เรือนแรก ความยากของผลงานแควร์คือเขาต้องปรับแต่งชิ้นส่วนให้มีขนาดเล็กมากพอที่จะใส่ลงในนาฬิกาพก เป็นงานที่ยากลำบากและอาศัยความเชี่ยวชาญอย่างสูง เพราะทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในยุคที่ไร้เครื่องมือเทคโนโลยีเอื้ออำนวย
ปี 1710 ซามูเอล วัตสัน (Samuel Watson) ช่างนาฬิกาผู้เคยทำนาฬิกาถวายพระเจ้าชาลส์ที่ 2 แห่งอังกฤษก็ได้สร้าง Five-Minute Repeater นาฬิกาของเขาจึงเพิ่มความละเอียดด้วยการตีระฆังบอกหลักชั่วโมงและ 5 นาที เพียงหนึ่งทศวรรษถัดมา ตรงกับช่วงปี 1720 ฟังก์ชั่นที่นิยมในปัจจุบันก็กำเนิดขึ้น Minute Repeater นาฬิกาเสียงระฆังที่บอกเวลาละเอียดครบทุกหน่วยทั้งชั่วโมง, 15 นาที, และนาที อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครทราบว่าผู้สร้าง Minute Repeater คนแรกคือใคร รู้เพียงว่าเป็นช่างนาฬิกาในเยอรมันเท่านั้น
การปรับปรุง Minute Repeater
เรื่องราวของ Minute Repeater ยังไม่จบแค่นั้น เพราะถึงแม้จะมีแนวคิดและคอนเซ็ปต์ที่สมบูรณ์แต่การทำงานในชีวิตจริงยังบกพร่องอยู่ จนในปี 1783 ช่างนาฬิกาอัจฉริยะผู้คิดค้นกรงล้อทูร์บิญองจากสวิส อับราฮัม หลุยส์ บริเกต์ (Abraham Louis Breguet) ได้ปรับแก้และพัฒนากลไกให้มีโทนเสียงสูงต่ำโดยเปลี่ยนจากการใช้กระดิ่ง (Bell) มาเป็นลวดฆ้อง (Gong) ซึ่งช่วยลดขนาดพื้นที่ทำให้ตัวเรือนนาฬิกาพกบางลง ซึ่งช่วงเวลาหลายร้อยปีที่ผ่านมา ฆ้องที่บริเกต์เป็นผู้นำร่องก็ยังคงถูกใช้จนปัจจุบัน และในปี 1820s บริเกต์ได้คิดค้นกลไก All-or-Nothing มีหน้าที่ช่วยป้องกันไม่ให้เฟืองสะพานบอกเวลาหลุดก่อนที่จะเลื่อนจนสุด ทำให้นาฬิกาตีระฆังบอกเวลาถูกต้อง ความพยายามของเขาทำให้ฟังก์ชั่นซับซ้อนนี้เข้าใกล้นิยามการเป็นผลงานศิลปะมากยิ่งขึ้น เพราะนอกเหนือจากกลไกที่พัฒนาด้านวิศวกรรม เสียงระฆังก็กลายเป็นสุนทรียภาพอย่างหนึ่งที่ดังกังวานด้วยคีย์สูงและต่ำ
หลายท่านอาจสงสัยว่าเหตุใดช่างนาฬิกาสมัยก่อนต้องพยายามทำฟังก์ชั่นที่ซับซ้อนและยากลำบากกว่าจะได้มา และทำไมต้องให้นาฬิกาส่งเสียงบอกเวลา ในเมื่ออ่านจากหน้าปัดง่ายกว่ามาก ซึ่งนั่นก็จริงแต่ทำไม่ได้ในช่วงกลางคืน เพราะย้อนไปเมื่อสมัยศตวรษที่ 16-18 ยังไม่มีกระแสไฟฟ้าให้ใช้ตามบ้านเรือนและยังไม่มีการค้นพบสารเรืองแสงที่ใช้ทาหน้าปัด ดังนั้น Repeater จึงถูกสร้างขึ้นเพื่อบอกเวลาตอนกลางคืนที่ไร้แสงสว่าง สอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้คนยุคนั้นที่ไม่ได้นอนยาว 8 ชั่วโมงแบบทุกวันนี้ แต่แบ่งการนอนออกเป็น 2 ช่วง โดยช่วงแรกจะนอนหลังจากดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าไป แล้วตื่นช่วงกลางดึกประมาณ 1 ชั่วโมงมาเพื่ออ่านหนังสือ สวดมนต์ หรือแม้กระทั่งไปหาเพื่อนบ้าน จากนั้นถึงเข้านอนรอบที่สองและตื่นในเช้าวัดถัดมา วิถีชีวิตเช่นนี้และความมืดที่ยังเป็นอุปสรรคทำให้อ่านเวลาจากหน้าปัดนาฬิกาไม่ได้ และถึงแม้จะมีหอนาฬิกาที่คอยตีบอกเวลาทุกชั่วโมงหรือจุดเทียนเพื่อให้มองเห็น แต่สำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ไกลออกไปจนไม่ได้ยินและมีฐานะก็คงเลือกที่จะพึ่งพาเสียงระฆังจาก Repeater ส่วนอีกแหล่งข้อมูลก็วิเคราะห์ว่าเหตุผลที่สร้าง Minute Repeater ขึ้นก็เพื่อแสดงถึงความมีฐานะของผู้ครอบครอง
นอกจากนี้ ยังมี Repeater อีกประเภทที่น่าสนใจเพราะไม่มีเสียงระฆังแต่ใช้การสั่นแทน เรียกว่า Dumb Repeater ผู้ที่ใช้มักเป็นเหล่าขุนนางเพราะขณะเข้าพิธีหรือประชุมในวัง การดูเวลาด้วย Dumb Repeater ทำให้ไม่มีเสียงรบกวนกษัตริย์หรือราชวงศ์
กลไกและการทำงานของ Minute Repeater
การทำงานของฟังก์ชั่นซับซ้อนนี้มี 2 ส่วนสำคัญคือ ค้อน (Hammer) และฆ้อง (Gong) เป็นเส้นลวดโลหะที่ขดอยู่รอบนอกกลไกเครื่องซึ่งในนาฬิกา Minute Repeater ส่วนมากจะมีค้อนและฆ้องอย่างละ 2 ชิ้น ซึ่งมีการค้นคว้าเพื่อหาส่วนผสมของโลหะที่จะให้เสียงที่ดีที่สุด การใช้ฆ้องแทนกระดิ่ง (Bell) ทำให้จากที่เคยมีเสียงโทนเดียวกลายมาเป็นมีทั้งเสียงสูงและต่ำตามแต่ช่างนาฬิกาจะปรับและต้องทำให้เกิดการสั่นพ้องที่สมบูรณ์ แรงตีของค้อนแต่ละชิ้นก็สำคัญและต้องปรับทีละชิ้นไม่ให้ตีลวดฆ้องแรงเกินไป นอกจากนี้ ในอดีตว่ากันว่าตัวเรือนที่ทำจาก Pink Gold จะทำให้เสียงระฆังเพราะที่สุด แต่ในปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าก็ส่งผลให้ตัวเรือนที่ทำจากทองคำชนิดอื่น ๆ ก็ให้เสียงที่ไพเราะไม่แพ้กัน ที่ว่ามาทั้งหมดนี้ นาฬิกา Minute Repeater ต้องใช้เวลากับการประกอบและปรับแต่งถึง 200-300 ชั่วโมง จึงขึ้นแท่นสุดยอดฟังก์ชั่นซับซ้อนที่เหนือกว่าด้วยความเชี่ยวชาญชั้นสูงและสุนทรียภาพแก่ผู้ใช้ผ่านเสียงระฆังที่ใสและไพเราะ
เสียงระฆังจาก Patek Philippe Minute Repeaters
เมื่อเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ นาฬิกาข้อมือเข้ามาแทนที่นาฬิกาพก การมีฟังก์ชั่น Minute Repeater ทำให้ข้างตัวเรือนนาฬิกาส่วนใหญ่จะเป็นตัวเลื่อนเพี่อดันระบบสปริงที่จะใช้ตีบอกเวลา และเมื่อเลื่อนขึ้นจนสุดแล้วปล่อย ค้อนจะทำการตีลวดฆ้องตามจำนวนเวลา โดยค้อนตัวแรกจะตีเสียงต่ำ เป็นเสียง Dong เพื่อบอกหน่วยชั่วโมงและอีกตัวจะตีเสียงสูงเป็นเสียง Ding เพื่อบอกหน่วยนาที และตีสลับกันเพื่อบอกหน่วย 15 นาทีด้วยเสียง Ding-Dong ยกตัวอย่างเช่น หากเวลาคือ 12:39 นาฬิกาจะตีด้วยเสียง Dong 12 ครั้ง (หมายถึง 12 ชั่วโมง) แล้วต่อด้วย Ding-Dong 2 ครั้ง (หมายถึง 30 นาที) และจบด้วยเสียง Ding 9 ครั้ง (หมายถึง 9 นาที)
คุณสมบัติของเสียงที่ดีมีอยู่ 4 ประการ ได้แก่ 1) ความดังที่เสียงต้องได้ยินได้ง่าย 2) จังหวะที่แม่นยำและสม่ำเสมอ 3) การประสานเสียงสูงและต่ำที่ไม่ทับซ้อนกัน และ 4) ความยาวของเสียงต้องพอดีและจบลงก่อนทีอีกเสียงจะดังขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันฟังก์ชั่นระฆังบอกเวลาอาจจะไม่ใช่สิ่งจำเป็นแล้ว แต่ฟังก์ชั่นซับซ้อบระดับชั้นครูที่ให้เสียงและซับซ้อนที่กว่าจะได้มาทำให้นาฬิกาหลาย ๆ แบรนด์โชว์ศักยภาพด้วยการใส่ Minute Repeater ลงไป เราได้เลือกรุ่นที่น่าสนใจ 3 รุ่นด้วยกัน
1. Patek Philippe 7000R Ladies
Minute Repeater ช่วงก่อนปี 2000 เล็กน้อย แม้ว่าก่อนหน้านั้น 40 ปี ฟังก์ชั่นซับซ้อนนี้ได้หมดความนิยมลงแล้ว แต่คุณฟิลิปส์ สเติร์น ผู้บริหารคนก่อนก็หยิบมาทำใหม่อีกครั้ง
สำหรับ 7000R เรือนนี้พิเศษตรงที่เป็นนาฬิกาสำหรับคุณผู้หญิงรุ่นแรกที่มี Minute Repeater เปิดตัวในปี 2011 และทางแบรนด์กล่าวว่า นี่คือ Minute Repeater ที่เสียงเพราะที่สุด โดยปกติแล้วฟังก์ชั่นซับซ้อนนี้จะทำกับนาฬิกาข้อมือที่มีขนาดใหญ่ แต่ปาเต็กนำมาใช้กับนาฬิกาผู้หญิงนั่นแปลว่าขนาดต้องเล็กมากกว่าปกติและสามารถทำให้อยู่ในขนาดหน้าปัด 33.70 มม ได้เพราะปาเต็กใช้ Cal.R27PS ที่เป็นหนึ่งในเครื่องที่บางที่สุด ทำให้ตัวเรือนโดยรวมทั้งหมดหนาเพียง 9.50 มม มีชิ้นส่วนทั้งหมด 342 ชิ้น และใช้ระบบเลื่อนกระเดื่องด้านข้างฝั่งซ้ายเพื่อให้ Minute Repeater ทำงาน
คุณสมบัติทั่วไปอื่น ๆ คือ ตัวเรือนทำจาก Rose Gold หน้าปัดเรียบเกลี้ยงเกลาที่มีเพียงหน้าปัดย่อยเล็ก ๆ ด้านล่างบอกวินาที หน้าปัดสีครีมพร้อมหลักอารบิคสีชมพูแบบ Breguet ทำจาก Rose Gold 18K ทั้ง 9 หลักและมากับสายหนังจระเข้ ผ่านขั้นตอนการผลิตหลายเดือนจนมาถึงขั้นสุดท้ายที่คุณสเติร์นจะเป็นผู้ทดสอบเสียง Minute Repeater ก่อนวางจำหน่าย ราคาของเรือนนี้อยู่ที่ราว ๆ 375,000 เหรียญสหรัฐ แปลงเป็นเงินไทยประมาณ 11,187,000 บาท (ปัจจุบันรุ่นนี้ไม่มีจำหน่ายแล้ว)
2. A.Lange & Söhne Zeitwerk Minute Repeater With Blue Dial Ref.147.028
แบรนด์นาฬิกาชั้นสูงจากเยอรมันอย่าง A. Lange & Söhne ก็ทำนาฬิกาเสียงระฆังเช่นกัน แต่ต่างจากแบรนด์อื่น ๆ ที่รังสรรค์กลไกการบอกเวลาแบบใหม่ด้วยระบบที่ชื่อว่า Zeitwerk Minute Repeater หรือสามารถเรียกอีกอย่างว่า Decimal Minute Repeater หมายความว่า นาฬิกาจะอ่านเวลาเหมือนกับเลขเวลาที่ปรากฏอยู่บนหน้าปัด ซึ่งสอดคล้องกับชื่อ Decimal ที่แปลว่า ทศนิยม (หรือการนับเลขแบบ 0-9) เสียงระฆังจะตีบอกหน่วยชั่วโมง หลักสิบนาที และหลักนาที เรียงตามลำดับเหมือนเวลาอ่านเลขทศนิยม หากเป็นเวลาตามภาพ 7:52 นาฬิกาจะตีด้วยเสียงต่ำ 7 ครั้ง (หมายถึง 7 ชั่วโมง) แล้วตีสลับเสียงสูงต่ำ 5 ครั้ง (หมายถึง 50 นาที) และจบด้วยการตีเสียงสูง 2 ครั้ง (หมายถึง 2 นาที) ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า Zeitwerk Minute Repeater เป็นกลไกที่บอกเวลาให้ผู้ใช้เข้าใจง่ายกว่าระบบ Minute Repeater ทั่วไป ที่จะตีระฆังบอกหลักนาทีแบ่งเป็นหน่วยละ Quarter หรือ 15 นาที และมันจะง่ายขึ้นมากหากคุณจะรอฟังหลักนาทีเคาะไม่เกิน 9 ครั้ง แทนที่จะเป็นการเคาะ 14 ครั้งแบบระบบ Minute Repeater ปกติ
หลักการทำงานของฟังก์ชั่นใหม่นี้เต็มไปด้วยความเฉลียวฉลาดและน่าทึ่งในทุกอณู เริ่มจากการเชื่อม Zeitwerk Minute Repeater ให้เข้ากับการบอกเวลาแบบดิจิทัลและอยู่บนหลักการของกลไก Jumping Numeral วิศวกรของแบรนด์ใช้ Rack and Snail กลไกการตีระฆังที่เป็นมาตรฐานตั้งต้นของ Minute Repeater ทุกแผ่นดิสก์ตัวเลขชั่วโมง นาทีหลักสิบและหลักหน่วยจะมี Snail ซึ่งเป็นฟันเฟืองสะพานรูปคล้ายหอยทากคอยควบคุมและเปลี่ยนตัวเลขเหล่านี้ให้เป็นรหัส จากนั้น Rack จะแปลงรหัสแล้วส่งต่อไปให้ค้อนทั้งสองตีบอกเวลาในที่สุด
สามารถฟังเสียง Zeitwerk Minute Repeater ได้ในนาทีที่ 1:37-1:53
ถัดมาคือแหล่งพลังงาน โดยปกติแล้ว Minute Repeater รุ่นอื่นจะใช้ตลับลานแยกจากกลไกบอกเวลา แต่ Zeitwerk Minute Repeater ใช้พลังงานจากตลับลานเดียวกันเลยทำให้สูญเสียพลังงานสำรองไวขึ้น แต่ก็มีระบบรักษาจักรกลภายในโดยZeitwerk Minute Repeater จะไม่สามารถใช้ได้หากมีพลังงานสำรองเหลือน้อยกว่า 12 ชั่วโมง สังเกตุจากเครื่องหมายสีแดงบนหน้าปัด นอกจากนี้ยังมีระบบป้องกันหรือ Blocking Mechanism ในขณะที่ฟังก์ชั่นกำลังทำงาน แผ่นดิสก์ตัวเลขจะหมุนเปลี่ยนช้าลงและไม่สามารถดึงเม็ดมะยมออกได้ โดยเฉลี่ยแล้วการตีระฆังจะใช้เวลาไม่เกิน 20 วินาที ซึ่งระหว่างนี้หากเวลามีการเปลี่ยนไป จะต้องรอให้ Zeitwerk Minute Repeater ทำงานเสร็จกก่อนแผ่นดิสก์จึงจะเปลี่ยนเลขได้ แต่ระบบจะตีระฆังตามเวลาที่เปลี่ยนไปแล้ว ถือว่าเป็นกลไกที่เหนือความคาดหมายมากเพราะยังคงความเที่ยงตรงบอกแบบ Real Time และรักษากลไกภายในไม่ให้เกิดอันตรายได้อีก กลไกใหม่และหนึ่งเดียวของ A. Lange & Söhne นี้ทำงานผ่านการกดปุ่ม ไม่ใช่การเลื่อนกระเดื่องข้างตัวเรือนแบบ Minute Repeater ทั่วไป เพื่อหลีกหลีกความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เพราะการเลื่อนมีความเสี่ยงสูงที่จะเลื่อนกระเดื่องไปไม่สุดและมีการดีดกลับก่อนที่ระบบจะตีบอกเวลา
สำหรับ A.Lange & Söhne Zeitwerk Minute Repeater With Blue Dial Ref.147.028 เรือนนี้เปิดตัวในปี 2020 มาในตัวเรือน White Gold พร้อมหน้าปัดสีน้ำเงินขนาด 37.70 มม ตัดกับบริดจ์สีเงิน ด้านล่างซ้ายและขวาเปิดให้เห็นค้อนและลวดฆ้องสีเงินที่ล้อมตามรูปทรงหน้าปัดด้านบน ใช้ชิ้นส่วนทั้งหมด 771 ชิ้นและพลังงานสำรอง 36 ชั่วโมง องค์ประกอบสีลงตัวด้วยสายหนังสีน้ำเงินเย็บด้วยมือพร้อมตัวล็อค White Gold ผลิตจำนวนจำกัด 30 เรือน และมีราคาประมาณ 437,700 € หรือประมาณ 16,000,000 บาท
3. Jaeger-LeCoultre Master Grande Tradition Gyrotourbillon Westminster Perpétuel Q5253420
ในปี 2019 เรียกได้ว่า Jaeger-LeCoultre เปิดตัวนาฬิกาที่น่าทึ่งและมีฟังก์ชั่นซับซ้อนที่น่าอัศจรรย์มากจริง ๆ เพราะเป็นเรือนที่ประกอบไปด้วยทูร์บิญองชนิดพิเศษอย่าง Gyrotourbillon ซึ่งเป็นแบบทูร์บิญองที่ทำงานอยู่บนหลายแกนและเล็กมากกว่ารุ่นไหน ๆ ที่เคยทำมา ตามทฤษฎีจะช่วยลดแรงกระทำจากแรงโน้มถ่วงโลกที่มีต่อจักรกลอก พ่วงมากับรีมอนแทร์ (Remontoire) หรือกลไกสร้างแรงคงที่ เพื่อให้แรงที่ได้จากการคลายตัวของตลับลานเท่ากันและสม่ำเสมอตั้งแต่ต้นจนหมดลาน และมีไว้เพื่อควบคุมเฟืองนาทีก่อให้เกิด Jumping Minute หมายถึงการที่เข็มนาทีชี้ไปที่หลักถัดไปทันทีเพื่อการอ่านค่านาทีด้วยความแม่นยำ รวมไปถึงช่วยกำจัดข้อผิดพลาดในการตีระฆังอีกด้วย
และไฮไลท์สำคัญของเรือนนี้คือการมี Westminster Minute Repeater ที่สามารถเลียนแบบเสียงของหอนาฬิกา Big Ben และเนื่องจากรอบข้างเป็นแบบฉลุหรือที่เรียกกันว่า Skeleton ทำให้เห็นจักรกลภายในและเห็นค้อนอยู่ที่ 4 และ 8 นาฬิกา ลวดฆ้องสีน้ำเงินล้อมรอบอยู่นอกสุดตัดกับสีของชิ้นส่วนโลหะอื่น ๆ พร้อมฟังก์ชั่นลดความเงียบเพื่อให้เสียงของระฆังออกมาไพเราะมากที่สุด และเสียงจะดังกังวานชัดเจนเพราะมีกระจกคริสตัลแซฟไฟร์ ถัดมาคือฟังก์ชั่นปฏิทินถาวรหรือ Perpetual Calendar ต่างจากเรือนอื่นตรงที่สามารถปรับได้สองทิศทาง วันที่ปรากฏอยู่บนขอบนอกสุด และเพิ่มลูกเล่นด้วยการเว้าเข้ามาเล็กน้อยเพื่อให้โชว์กงล้อทูร์บิญองสีเหลืองชนิดพิเศษ ซึ่งตัวเลขวันที่ไม่ได้หายไปกับส่วนเว้าแต่อย่างใด ส่วนวันของสัปดาห์ เดือน และปีแสดงแบบดิจิทัล
ทั้งหมดนี้อยู่ในตัวเรือน White Gold ขนาด 43 มม หนา 14.08 มม ปุ่ม Minute Repeater สามารถพับเก็บได้ ผลิตจำนวนจำกัดเพียง 18 เรือนและมีหน้าปัดให้เลือกสองสีคือ สีเงินและสีน้ำเงินเคลือบอีนาเมล พร้อมสายหนังจระเข้สีน้ำเงิน ราคา 800,000 ยูโร แปลงเป็นเงินไทยอยู่ที่ 29,253,235 บาท
-----
จากที่กล่าวมาข้างต้น เรื่องราวของ Minute Repeater ถือเป็นฟังก์ชั่นที่ถือกำเนิดมาอย่างยาวนาน และเกือบหายไปจากศาสตร์การทำนาฬิกา แต่กลับมีมูลค่าสูงและหายากมากเมื่อเทียบกับฟังก์ชั่นอื่น ๆ เพราะนี่คือกลไกที่ยากและซับซ้อนมากเสียจนกว่าจะได้ต้องใช้ชิ้นส่วนนับร้อยและใช้เวลาประกอบเป็นร้อย ๆ ชั่วโมง ผลลัพธ์ที่ได้จากชิ้นส่วนเหล่านี้คือเสียงระฆังที่ใสและไพเราะซึ่งแต่ละเรือนจะแตกต่างกันออกไป ไม่มีใครซ้ำกันเหมือนลายมือมนุษย์ เป็นมนตร์เสน่ห์ที่หาไม่ได้จากฟังก์ชั่นซับซ้อนใด ๆ จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมผู้คนยังคงหลงใหลและจ่ายเงินจำนวนไม่น้อยเพื่อให้ได้มาครอบครอง
อ้างอิง
コメント