Franck Muller ยอดนักทำนาฬิกาแห่งศตวรรษที่ 20
“ผมเติบโตในช่วงย่ำแย่ของอุตสาหกรรมนาฬิกา ในวันที่เงินเดือนน้อยกว่าพนักงานยกกระเป๋าในโรงแรม แต่ตอนนี้มันคือหนึ่งในงานที่ดีที่สุดที่คุณทำได้ในสวิสเซอร์แลนด์” Franck Muller กล่าว ขณะให้สัมภาษณ์กับ Financial Times จากคำพูดของ Muller เขาต้องพบเจอกับช่วงเวลาแห่งความสิ้นหวัง ที่หลายคนในตอนนั้นปักใจเชื่อไปแล้วว่าศาสตร์ของนาฬิกาจักรกลได้จบลงแล้ว
แต่ในวันนี้ แม้ว่าชื่อแบรนด์ Franck Muller เป็นชื่อคุ้นหูและได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย แต่เรื่องราวที่มาของเขายังไม่ถูกเล่าขานและบอกต่อเท่าที่ควร ดังนั้นวันนี้ เราจะมาทำความรู้จักแบรนด์นี้กันค่ะ
Franck Muller ชายหนุ่มธรรมดาผู้ฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ
Franck Muller (แฟรงค์ มุลเลอร์) คือชื่อแบรนด์นาฬิกาหรูของสวิส ตั้งตามชื่อผู้ก่อตั้ง เขาเกิดเมื่อปี 1958 ใช้ชีวิตวัยเด็กที่เมืองลาโช-เดอ-ฟง (La Chaux-de-Fonds) ตั้งอยู่ในรัฐเนอชาแตล (Neuchâtel) ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เขาเป็นลูกครึ่งโดยมีแม่เป็นชาวอิตาลีและพ่อเป็นชาวสวิส
มุลเลอร์มีความหลงใหลในกลไกต่าง ๆ มาตั้งแต่เล็ก ชอบซ่อมและประกอบสิ่งของ เมื่ออายุ 15 ปีเขาออกจากโรงเรียนธรรมดา แล้วไปเข้าโรงเรียนช่างทำนาฬิกา Geneva School of Watch Making เขาเคยพูดถึงตัวเองไว้ว่า “ผมเก่งเรื่องการใช้มือ และไม่เก่งเรื่องเรียนหนังสือ”
หากเป็นประเทศอื่นเขาคงต้องทำงานในอู่รถเพราะถนัดเรื่องจักรกล แต่นี่คือสวิส ทำให้เขาสามารถหาเลี้ยงชีพด้วยวิถีเรียบง่ายด้วยการซ่อมนาฬิกา ตั้งแต่ตอนอายุ 15 ปี เขาเริ่มซื้อนาฬิกาจากตลาดมือสองแถวบ้าน หรือบางทีถึงกับไป London เพื่อซื้อนาฬิกาพกเก่ากลับมา ซึ่งในเวลานั้นยังไม่มีการสะสมนาฬิกาข้อมือ มีเพียงนาฬิกาพก และเขาเองก็มีพรสวรรค์ในการซ่อมนาฬิกาจากยุค 1700s เขาจึงนำนาฬิกาพวกนั้นกลับมาที่สวิสเซอร์แลนด์เพื่อซ่อมแซมและขายให้กับนักสะสม
มุลเลอร์เรียนจบในปี 1978 และเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นช่วงตกต่ำที่สุดของอุตสาหกรรมนาฬิกาสวิส เพราะการมาของนาฬิกาควอทซ์ แต่เขาไม่ได้ไหลไปตามกระแสโลกและยืนหยัดกับนาฬิกาจักรกล โดยรับซ่อมนาฬิกาทั้งจากบุคคลทั่วไป พิพิธภัณฑ์ สถาบันประมูล หรือแม้กระทั่งคอลเลคชั่นใน Patek Phillippe Museum ภายในต้นปี 1980s หรือแค่ไม่กี่ปีหลังเรียนจบ ชื่อเสียงของมุลเลอร์ในวัย 20 ต้น ๆ ก็เลื่องลือไปทั่ว
World Premiers ปูทางสู่ชื่อเสียงและเกียรติคุณ
อาชีพนักซ่อมนาฬิกาโบราณทำให้เขาตระหนักถึงศักยภาพตนเองที่ทำได้มากกว่า ‘การซ่อม’ ซึ่งคือ ‘การสร้าง’ นาฬิกาที่ซับซ้อนแต่มีความโมเดิร์น เขาเริ่มประดิษฐ์นาฬิกาของตนเอง และเรียกมันว่า World Premiers เป็นซีรีส์นาฬิกาที่มีความซับซ้อนไร้ที่ติและไม่เคยมีที่ใดผลิตมาก่อน โดยมุลเลอร์สร้าง World Premiers ตั้งแต่ปี 1986 และเขายังคงใช้วิถีดั้งเดิมในการทำนาฬิกาคือประกอบชิ้นส่วนด้วยตนเอง ทำให้มีนาฬิกาจำนวนจำกัดเพียง 3-4 เรือนต่อปี
ในปี 1986 ณ งาน Basel Fair เขานำเสนอผลงานชิ้นเอกที่สร้างความตื่นตะลึงให้กับผู้คนในงาน นั่นคือ นาฬิกาข้อมือทูร์บิญองแบบหมุนอิสระพร้อม Jumping Hours และหน้าปัดย่อย อาจจะฟังดูธรรมดาเพราะทูร์บิญองเป็นชื่อที่ได้ยินกันอย่างดาษดื่นในปัจจุบัน แต่สำหรับ 20 กว่าปีก่อนถือเป็นเรื่องใหม่มากทีเดียวเพราะสร้างโดยปราศจากคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัยอย่างที่เรามีในวันนี้ และในปีเดียวกันเขาก็สร้างนาฬิกาให้ภรรยาของนักอุตสาหกรรมชาวอิตาลี ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ใช้ตัวเรือนทรงโค้งแบบถังเบียร์หรือ Cintree Curvex ซึ่งสุดท้ายได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวของเขา
จนกระทั่งปี 1991 มุลเลอร์ได้พบกับวาร์ตัน เซอร์เมคส์ (Vartan Sirmakes) ผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์และเสนอให้เปลี่ยนจากการผลิตน้อยชิ้นมาเป็นองค์กรขนาดใหญ่และกลายมาเป็น Franck Muller อย่างในปัจจุบัน
หลังจากการพัฒนาหลายปี ในปี 2004 เขาปฏิวัติวงการนาฬิกาด้วยการสร้าง Revolution 3 ที่มีทูร์บิญอง 3 แกนเป็นครั้งแรกของโลก สามารถป้องกันแรงโน้มถ่วงโลกจากทุกทิศทาง ต่างจากทูร์บิญองทั่วไปที่ชดเชยแรงก็ต่อเมื่อนาฬิกาอยู่ในแนวตั้ง และปี 2009 เขาเปิดตัวงานชิ้นเอก Aeternitas Mega 4 ซึ่งเป็นนาฬิกาข้อมือที่ซับซ้อนที่สุดในโลก ประกอบด้วย 36 ฟังก์ชัน ส่วนประกอบ 1,483 ชิ้น และปฏิทิน 1,000 ปี เพราะความคิดสร้างสรรค์และพรสวรรค์ของเขา Franck Muller ได้รับการยอมรับว่าเป็น "Master of Complications"
คอลเลคชั่นในใจของมุลเลอร์
มุลเลอร์คิดค้นและประดิษฐ์ฟังก์ชั่นซับซ้อนใหม่ ๆ มากมาย แต่สิ่งที่เขาประทับใจที่สุด คือ Crazy Hours คอลเลคชั่นนี้ เขาได้มาขณะพักผ่อนที่มาริเซียส (Mauritius) เป็นเกาะเล็ก ๆ ในมหาสมุทรอินเดีย ที่นั่นเขาต้องทำตามกฎหลายอย่าง เช่น ต้องใส่สูทสีดำ แต่เขาเตรียมไปเพียงแจ็กเก็ตจึงไม่สามารถเข้าร่วมงานได้ เขายอมรับว่าหัวเสียจนนึกย้อนถึงชีวิตมนุษย์ว่าเต็มไปด้วยข้อบังคับ คืนนั้นเขาจึงตัดสินใจจะสร้างนาฬิกาที่ไร้กฎเกณฑ์และแหวกขนบการเดินเวลาไปอย่างสิ้นเชิง เป็นที่มาของ Crazy Hours
จากภาพจะเห็นว่า เลขบนหน้าปัดของ Crazy Hours ไม่ได้เรียงตามลำดับ 1 2 3 แต่เป็นเลขที่เหมือนจับวางอย่างสุ่ม ๆ ไร้แบบแผน การอ่านเวลาไม่ได้ยากอย่างที่คิด เพราะเข็มชั่วโมงจะทำงานโดยชี้ไปหาเลขชั่วโมงนั้น ๆ ทันทีที่เข็มนาทีเดินครบ60 นาที ดังนั้น เข็มชั่วโมงจึงไม่เดินกวาดเป็นวงกลม แต่เดินสลับไปมาแล้วแต่ว่าเลขที่ตามหาจะอยู่ตรงไหน เรียกได้ว่า Crazy สมชื่อคอลเลคชั่นจริง ๆ
นอกจากนี้ ยังมีรุ่นอื่น ๆ มากมายที่ มุลเลอร์สรรสร้างไว้เพื่อสะท้อนถึงความเรียบหรูและความสนุกสนานในการใช้สีสัน เช่น Master Square ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากงานศิลปะแนว Art Deco ของฝรั่งเศส เป็นงานศิลป์ที่นิยมในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 จุดเด่นคือการใช้เรขาคณิตและคอนเซ็ปต์ความสมมาตร รวมไปถึงรุ่น Vanguard ที่มีรูปทรงถังเบียร์สุดคลาสสิค ที่แค่เห็นก็ทราบว่าเป็นแบรนด์อะไร ทั้งหมดนี้สร้างโดยยึดถือหลักผสมผสานระหว่างความทันสมัยและการผลิตนาฬิกาแบบดั้งเดิมของสวิส
นี่คือเรื่องราวของ Franck Muller แบรนด์นาฬิกาหน้าใหม่เมื่อเทียบกับแบรนด์ยักษ์ใหญ่ที่ก่อตั้งมานับร้อยปี แต่การมาทีหลังไม่ได้หมายความว่าจะด้อยกว่าแต่อย่างใด และในวันนี้ เวลาได้พิสูจน์ความสามารถของผู้ผลิตนาฬิกาคนนี้แล้วว่า ความแปลกใหม่เกิดขึ้นได้เสมอจากสิ่งรอบตัว รวมถึงศาสตร์และนวัตกรรมของนาฬืกาจักรกลที่ยังคงพัฒนาต่อไปได้ แม้ว่านาฬิกาจะถูกคิดค้นมานานนับหลายศตวรรษแล้วก็ตาม
อ้างอิง
Comments