Accutron เรือนเวลาที่โลกลืม
ก่อนจะมาเป็นนาฬิกาไฟฟ้าระบบควอทซ์อันมีต้นกำเนิดจากญี่ปุ่นที่ประชากรกว่า 70% ของโลกสวมใส่ และก่อนที่นาฬิการะบบนี้แทบจะทำลายให้นาฬิกาจากทวีปยุโรปล่มสลาย คุณทราบหรือไม่ว่า จุดกำเนิดทั้งหมดกลับเริ่มต้นที่ทวีปอเมริกา นาฬิกาไฟฟ้าที่ทำให้ทั้งโลกต้องคิดใหม่ และปั่นป่วนอุตสาหกรรมนี้ในที่สุด
Accutron คือนาฬิกาที่เกือบจะไปถึงจุดเดียวกับ Tesla ของ Elon Mask หากไม่มี Seiko กับผลึกควอทซ์จิ๋วมาแซงหน้าไปเสียก่อน มันอาจจะไม่ใช่นาฬิกาข้อมือเรือนแรกที่ใช้แบตเตอรี่ แต่มันเป็นนาฬิกาข้อมือไฟฟ้าเรือนแรกที่ใช้ได้จริง และยังมีแฟนคลับอยู่จนถึงปัจจุบัน
และสิ่งหนึ่งที่ทำให้ Accutron ควรค่าแก่การจดจำคือ ความกล้าในการสร้างกลไกใหม่ทั้งหมด ในขณะที่แบรนด์อื่นทำได้เพียงหยั่งเชิงครึ่ง ๆ กลาง ๆ ดังนั้นบทความนี้เราจะย้อนไปสู่วันวานแห่งความรุ่งโรจน์ของ Accutron กันค่ะ
ก่อนการมาของ Accutron
Accutron ถือว่าเป็นนาฬิกาที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นมากเรือนหนึ่งเท่าที่ Bulova เคยผลิตมา แต่ตัว Bulova เองก็มีประวัติยาวนานน่าสนใจไม่แพ้กัน ทุกอย่างเริ่มต้นที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โจเซฟ บูโลวา(Joseph Bulova) ได้ก่อตั้งบริษัทตามนามสกุลตนเอง “Bulova” ในปี 1875
นาฬิกาของเขาถูกผลิตและประกอบชิ้นส่วนที่สวิสเซอร์แลนด์และนิวยอร์ก นอกจากนี้ บริษัท Bulova เองก็เป็นผู้ริเริ่มทำการตลาดช่องทางใหม่ ๆ ยกตัวอย่างเช่น Bulova เป็นบริษัทแรกที่มีโฆษณาทางวิทยุและทางโทรทัศน์
ในช่วงแรก บริษัทใช้วิธีการดั้งเดิมพื้นฐานในการสร้างนาฬิกา โดยนาฬิกาจักรกลทุกเรือนใช้จักรลอกและ Hairspring เพื่อควบคุมการเดินของเข็มนาฬิกา กลไกนี้ขับเคลื่อนเข็มเวลามายาวนาน แต่ก็มีข้อจำกัดเช่นกัน การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ คลื่นสนามแม่เหล็กและแรงกระแทก ทั้งหมดนี้ส่งผลต่อความเที่ยงตรงของนาฬิกาจักรกล จนสุดท้าย ช่วงกลางศตวรรษที่ 20 หรือ 1950s ผู้ผลิตนาฬิกาตระหนักว่าพวกเขากำลังไปถึงขีดจำกัดของกลไกเดิมนี้แล้ว
นาฬิกาอิเล็กทรอนิกส์: ปูทางสู่นาฬิการะบบใหม่
หลังจากปี 1950s บริษัทต่าง ๆ เริ่มทดลองสร้างนาฬิกาอิเล็กทรอนิกส์รุ่นแรก 2 ปีถัดมา Lip บริษัทสัญชาติฝรั่งเศสร่วมกับ Elgin จากสหรัฐอเมริกาก็เปิดตัวนาฬิกาข้อมือเรือนแรกที่ใช้พลังงานแบตเตอรี่
ในปี 1957 บริษัท Hamilton ก็ไม่น้อยหน้า เปิดตัว Hamilton Electric 500 ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ในการทำนาฬิกา และถือว่าเป็นนาฬิกาข้อมือพลังแบตเตอรี่รุ่นแรกของโลกที่วางจำหน่าย นาฬิกาเรือนนี้ไม่ใช้ตลับลานเพื่อให้พลังงาน แต่ใช้แบตเตอรี่กระตุ้นให้จักรลอกแกว่ง แล้วขับเคลื่อนเกียร์และเข็มให้เดิน ถึงจะก้าวล้ำไปก่อนแบรนด์อื่น แต่ Hamilton 500 ก็มีปัญหาใหญ่คืออายุการใช้งานแบตเตอรี่สั้น และเอาแน่เอานอนไม่ได้
นาฬิกาอิเล็กทรอนิกส์ที่ผลิตออกมาช่วงนี้ล้วนมีปัญหาอย่างมาก เพราะยังคงมีการใช้จักรลอก ทำให้กลไกก็ไม่ได้ต่างอะไรจากระบบเดิม ความเที่ยงตรงก็ไม่เพิ่มขึ้นจากนาฬิกาจักรกล ยิ่งไปกว่านั้น ความเปราะบางของกลไกใหม่นี้ยังทำให้ซ่อมแซมยากอีกด้วย นาฬิกาไฟฟ้ารุ่นแรกช่างน่าตื่นตาตื่นใจแต่ก็คว้าน้ำเหลว ดังนั้นการตามหากลไกใหม่จึงเริ่มขึ้นอีกครั้ง
Accutron กำเนิดแห่งนวัตกรรมใหม่
หลังจากเห็นตัวอย่างความไม่เข้าท่าของระบบกึ่งจักรกล Bulova เลือกแนวทางอื่นเพื่อไปสู่กลไกใหม่ แทนที่จะเริ่มด้วยจักรลอกเหมือนคนอื่น Bulova เลือกให้ Accutron ใช้ Tuning Fork หรือส้อมเสียง ซึ่งมีความถี่ที่ 360 ครั้งต่อวินาทีและใช้พลังงานแบตเตอรี่ ทำให้มีความเที่ยงตรงสูง คาดเคลื่อนเพียง 2 วินาทีต่อวัน
วิธีการคือ แบตเตอรี่จะจ่ายไฟให้ทรานซิสเตอร์ แล้วส่งต่อให้ขดลวดทั้งสองที่อยู่ตรงปลาย Tuning Fork จากนั้น Tuning Fork จะสั่น 360 ครั้งใน 1 วินาที แล้วก็ต่อวงจรระบบจ่ายไฟคงที่ ทำให้การสั่นของ Tuning Fork คงที่ไปจนกว่าแบตจะหมด การทำงานของ Accutron ใช้ไฟฟ้าน้อยมากทำให้อายุการใช้งานยาวนานกว่า Hamilton 500 นอกเหนือจากความล้ำสมัยแล้ว Tuning Fork ยังมีข้อดีอีกอย่างคือ การสั่นด้วยความถี่สูงทำให้ทนต่อแรงกระแทก ส่งผลให้นาฬิกาเที่ยงตรงแม้ว่าจะถูกรบกวนจากแรงภายนอก ซึ่งตรงข้ามกับนาฬิกาจักรกล
จริง ๆ แล้วแนวคิดที่ใช้ Tuning Fork สร้างความถี่ให้นาฬิกาไม่ได้เกิดจาก Bulova เพราะมีการจดสิทธิบัตรการใช้ Tuning Fork กับนาฬิกาครั้งแรกเมื่อปี 1866 ด้วยความถี่ 100 Hz เป็นผลงานของหลุยส์ ฟรังซัวส์ คลีเมน บริเกต์ (Louis Francois Clement Breguet) หลายคนอาจจะคุ้นนามสกุล Breguet ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจเพราะเขาคือหลานของอับราฮัม หลุยส์ บริเกต (Abraham-Louis Breguet) ผู้ประดิษฐ์ทูร์บิญองอันเลื่องชื่อ อย่างไรก็ตาม แม้ทฤษฎีการใช้งาน Tuning Fork ดูเข้าท่า แต่กว่าจะมีคนนำไปพัฒนาต่อทำเป็นนาฬิกาข้อมือก็เกือบอีกศตวรรษ
Max Hetzel นักประดิษฐ์อัจฉริยะกับเส้นทางสู่ Accutron
ชายผู้ที่ทำให้แนวคิดการใช้ Tuning Fork กับนาฬิกากลายเป็นจริงคือ แม็กซ์ เฮทเซล (Max Hetzel) วิศกรชาวสวิสผู้ที่ถูกเลือกโดย Bulova เพือทำให้ Tuning Fork มีขนาดเล็กพอที่จะใส่ลงในนาฬิกาข้อมือ ซึ่งบอกเลยว่าไม่ใช่เรื่องง่าย
เฮทเซลหลงใหลในกลไกอิเล็กทรอนิกส์และการซ่อมแซมพัฒนาตั้งแต่วัยเยาว์ เขาเริ่มประดิษฐ์ไฟจักรยานเองโดยใช้ไดนาโมที่เก็บมาจากขยะ รวมไปถึงวิทยุ โทรศัพท์ หรือแม้แต่กล้องโทรทัศน์เขาก็ประดิษฐ์ขึ้นเอง โดยเขาใช้เวลากว่า 700 ชั่วโมงทำเลนส์กล้อง
ความอดทนและความพากเพียรของเฮทเซลทำให้เขายังคงยืดหยัดกับการสร้าง Accutron จนสำเร็จ ซึ่งได้จดสิทธิบัตรในปี 1953 และงานของเฮทเซลก็สานต่องานนี้อย่างจริงจัง
เฮทเซลยังพัฒนาทับทิมที่ปลายของ Tuning Fork โดยจะคอยผลักฟันเฟืองขนาดเล็กมากจนต้องใช้กล้องจุลทรรศน์ส่องดู แม้จะขนาดเล็กและเปราะบาง แต่เขาก็ปรับปรุงจนจักรกลส่วนนี้ทนทานและทำงานได้อย่างไร้ที่ติ
ในที่สุด เวลาแห่งความสำเร็จก็มาถึง ปี 1960 Accutron เปิดตัวต่อสาธารณะ กลายเป็นนาฬิกาที่ถูกพูดถึงมากที่สุดเพราะมี 2 นวัตกรรมล้ำสมัย 1) เข็มวินาทีของ Accutron เดินราบเรียบเนื่องจากมี Tuning Fork ที่สั่นด้วยความถี่สูง 2) Accutron ไม่มีเสียงดังติ้กต่อก แต่เป็นเสียงฮัมจากการสั่นของ Tuning Fork กลายเป็นว่า Accutron เปิดตัวด้วยความโดดเด่นจากนาฬิกาอื่น ๆ ด้วยความต่างของกลไก รูปลักษณ์ และเสียง
ความบังเอิญที่ถูกใจ: Accutron Spaceview
Accutron ถูกนำไปใช้ในการออกแบบให้หลายคอลเลคชั่น แต่ดีไซน์ที่น่าจดจำและมีเอกลักษณ์มากที่สุดกลับไม่ใช่ตัวแบบที่ผลิตจากโรงงานเสียอย่างนั้น แต่เป็นนาฬิการุ่น Accutron Spaceview
Spaceview ปรากฎตัวกับการเป็นนาฬิกาไร้หน้าปัด พร้อมกับเข็มและหลักบอกเวลาสีขาว ทำให้ผู้สวมใส่มองเห็นกลไกการทำงานของ Tuning Fork และ Transistor ภายในโดยไม่มีอะไรมากั้น
เดิมที Spaceview สร้างมาเพื่อเป็นสินค้าโชว์เท่านั้น การไม่มีหน้าปัดก็เพื่อให้พนักงานขายอธิบายกลไกภายในให้ผู้ซื้อเข้าใจว่า Tuning Fork ทำงานอย่างไร แต่กลับกลายเป็นว่านอกเหนือจากเทคโนโลยีล้ำสมัยแล้ว ก็ยังมอบความงามสุนทรียศาสตร์ให้ผู้สวมใส่อีกด้วย การผสมผสานระหว่างสีที่ชัดตัดกัน พร้อมกับพื้นผิวโลหะเกลี้ยงเกลาและการกวาดเข็มวินาทีที่ลื่นไหลของ Accutron ยังผลให้มีความต้องการ Spaceview จำนวนมากทันทีที่เปิดตัว ซึ่งในปี 1961 มีการขายแยกรุ่นนี้ออกมาโดยเฉพาะ
Spaceview เปิดตัวในยุคแห่งการปฏิวัติอิเล็กทรอนิกส์และการกำเนิดของยุคอวกาศที่เทคโนโลยีไม่ได้เป็นแค่ส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์โลกวิทยาศาสตร์ แต่เป็นประวัติศาสตร์ของศิลปะวัฒนธรรมด้วย จึงไม่น่าแปลกใจที่การไม่มีหน้าปัดมาปิดบังกลไกข้างในจะถูกตาต้องใจคนในขณะนั้น
ภารกิจเหนือน่านฟ้าและอวกาศกับ Accutron
Accutron มีด้วยกันหลายรุ่น นอกจาก Spaceview ที่โด่งดังเพราะรูปลักษณ์แปลกใหม่ ยังมีรุ่น Astronaut ที่ทำขึ้นเพื่อนักบินในภารกิจระดับชาติ ในช่วงเวลานั้นการบินพัฒนาไปอย่างรวดเร็วและนาฬิกาข้อมือที่จะใช้ได้ต้องสามารถทำงานได้ในสภาวะหฤโหดได้ ในช่วงปี 1960s ไม่มีเครื่องบินลำไหนที่เร็วไปกว่า A-12 ซึ่งเป็นผลงานจากโครงการลับสุดยอด Skunkworks ของ CIA ความล้ำของเครื่องบินลำนี้คือสามารถบินด้วยความเร็วกว่าแสง 3 เท่า ซึ่งเร็วกว่าขีปนาวุธของโซเวียตที่ยิงมาเสียอีก โดย CIA ได้จัดหา Accutron Astronaut อย่างลับ ๆ เพื่อให้กับนักบิน A-12 และคุณสมบัติของนาฬิการุ่นนี้ คือทนต่ออุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงอย่างมากในห้องนักบิน
ยิ่งไปกว่านั้น Astronaut ก็ได้รับเลือกเข้าไปมีส่วนร่วมกับในการไปอวกาศในความพยายามครั้งแรกของมนุษย์ อย่างโครงการ X-15 เป็นโครงการบุกเบิกที่มุ่งส่งมนุษย์ไปอวกาศ พัฒนาจาก Bell X-1 ที่เป็นเครื่องบินลำแรกที่สามารถบินเร็วกว่าเสียงคือ เร็วกว่า 332 เมตร/ วินาที ซึ่งสามารถทำลายกำแพงเสียงได้ (Sound Barrier) นี่เป็นผลงานชิ้นเอกของวิศวกรรมยุคอวกาศยุคแรก
ขณะที่ปฏิบัติการ A-12 เป็นความลับ แต่โปรแกรม X-15 เป็นที่รับรู้กันทั่วของสาธารณชน Bulova กล่าวอย่างภาคภูมิใจในการโฆษณาในวันนั้นว่า Accutron เป็นอุปกรณ์สำคัญสำหรับนักบินในภารกิจนี้ ไม่เพียงเท่านั้น Accutron ยังได้รับเลือกให้นักบินอวกาศโครงการ Mercury 7 ใช้ระหว่างฝึกซ้อม และในปี 1963 นักบินอวกาศ กอร์ดอน คูเปอร์ (Gordon Cooper) ก็ได้สวมใส่ Accutron Astronaut ในเที่ยวบินสุดท้ายของโครงการ Mercury
Accutron ยังมีการสวมใส่ในบางภารกิจของโครงการ Gemini และที่น่าประทับใจคือ ในปี 1983 หลังจากหยุดการผลิต Tuning Fork แล้วนอร์แมน ธาการ์ด (Norman Thagard) ผู้ปฏิบัติภารกิจยังคงสวม Accutron Astronaut ในภารกิจกระสวยอวกาศ STS-7
จุดจบของ Accutron และการเริ่มต้นใหม่
Accutron เป็นการปฏิวัติทั้งด้านการบอกเวลาและการออกแบบอย่างแท้จริง ในวงการนาฬิกาไม่เคยมีสิ่งนี้มาก่อน ทั้งเสียงฮัมที่เป็นเอกลักษณ์และการเคลื่อนไหวของเข็มวินาที เช่นเดียวกับสถาปัตยกรรมภายในที่เป็นเอกลักษณ์ของรุ่น Spaceview ทำให้ Accutron เป็นที่ต้องการอย่างมากในขณะนั้น
แต่ยุครุ่งเรืองของ Accutron ไม่อาจยั่งยืนเมื่อนาฬิกาควอทซ์ถือกำเนิดขึ้นด้วยความถี่ 32,768 Hz ทิ้งห่างความถี่ที่ Tuning Fork สร้างไว้อย่างไม่เห็นฝุ่น แม้ว่าจะมีความพยายามผสมระบบ Tuning Fork เข้ากับควอทซ์เป็นนาฬิกา Accuquartz แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเชิงพาณิชย์
ดูเหมือนว่า Accutron จะถูกปลดระวางอย่างถาวรและถูกจดจำในฐานะประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่าของโลกนาฬิกา แม้จะมีการนำกลับมาทำใหม่ช่วงสั้น ๆ ในปี 2010 สำหรับรุ่น Spaceview พิเศษครบรอบ 50 ปี และปี 2020 ก็เช่นกันแต่ไม่ได้ใช้ Tuning Fork เพราะข้อจำกัดที่เห็นได้ชัดว่าควอทซ์เป็นทางเลือกที่ดีกว่า
เรื่องราวของ Bulova Accutron นาฬิกาฮัมเพลงและเข็มเวลาที่เดินราบเรียบ พร้อมทั้งจักรกลภายในที่ไม่เหมือนใครของ Spaceview ยังคงตราตรึงใจ และแม้ว่าในปัจจุบัน Accutron ไม่ได้ครองตำแหน่งความเป็นที่สุดอย่างควอทซ์ที่เป็นสัญลักษณ์ของความเที่ยงตรง หรือจักรกลที่เป็นสัญลักษณ์ของศิลปะและความปราณีตของมนุษย์ แต่สิ่งหนึ่งที่ Accutron มีคือความกล้าที่จะสร้างกลไกใหม่ทั้งหมด ที่กลายมาเป็นจุดเปลี่ยนของโลกนาฬิกา
อ้างอิงและดัดแปลงจาก
https://www.hodinkee.com/articles/bulovas-accutron-astronaut-the-watch-chosen-by-the-cia-for-pilots-of-the-fastest-plane-ever-made
Comments