top of page

001# Rolex Daytona Cosmograph Generations: 11 Things You Should Know about Rolex Daytona


เป็นที่ยอมรับกันดีว่า Rolex รุ่นที่สุดอมตะ และอาจจะเรียกได้ว่าเป็น King of Rolex Sport ก็คือ “Daytona Cosmograph” หลายคนอาจจะได้ยินการพูดถึง Daytona ในแบบต่าง ๆ แล้วทำให้งงมากค่ะ เช่น เครื่อง Zenith, หน้า Paul, หน้าแพนด้า, ซีรี่เอ ฯลฯ ลัดดาพยายามรวบรวมข้อมูลทุกอย่างของ Daytona มาย่อยจนเหลือเท่าที่จำเป็นตาม Post นี้และรับรองว่า ต่อไปนี้ไปคุยเรื่อง Daytona กับใครแล้วรู้เรื่องค่ะ

1) Daytona สรุปมีหลักใหญ่ ๆ แค่ 3 ยุค คือ Ref.เลข 4 หลัก, 5 หลัก, และ 6 หลักแค่นี้เลยค่ะ ไม่ยุ่งยาก

2) Daytona Model 4 หลัก รุ่นแรกสุดคือ Ref.6239 วางจำหน่ายปี ค.ศ.1964 ซึ่งก่อนหน้านี้จะใช้คำว่า Rolex ” Chronograph ” แต่ต่อมา Rolex ตั้งชื่อนาฬิกาจับเวลารุ่นใหม่ว่า ” Cosmograph ” หมายถึง ‘นาฬิกาจับเวลาแห่งอนาคต’ มีกลไกจับเวลาและใส่ Tachymeter Scale ลงไปที่ขอบหน้าปัด เชื่อกันว่า Rolex เป็นรายแรก ๆ ที่ทำแบบนั้น

3) Tachymeter คือสเกลที่วัดความเร็วรถในขณะที่รถเคลื่อนที่ด้วยความเร็วคงที่ เป็นระยะทาง 1 กิโลเมตร ยกตัวอย่างถ้าจับเวลารถที่วิ่งอยู่จากหลัก กม หนึ่งถึงอีกหลัก กม ต่อไป แล้วใช้เวลา 30 วินาทีพอดี รถคันนั้นจะมีความเร็วตาม Tachymeter = 120km/h

4) Daytona รุ่น Ref.4 หลัก ทุกรุ่นจะมี Tachymeter เริ่มต้นความเร็วที่วัดได้ที่ 200km/h เสมอ ส่วนรุ่น Ref.5 หลักจนถึงปัจจุบัน จะมี Scale เริ่มต้นที่ 400km/h แต่ถ้าคุณไปเจอ Daytona รุ่น 5 หลัก Series R ที่วง Tachymeter เริ่มที่ 200 ที่หายากมาก ๆ มันจะมีมูลค่าสูงถึง 8 แสน – 1.5 ล้านบาทค่ะ

5) Daytona รุ่น Ref.4 หลัก ใช้เครื่องจับเวลาไขลานของ ETA-Valjoux 72 เสมอซึ่ง Rolex อาจจะนำไปดัดแปลงเป็น Caliber ของตัวเองเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ทั้งหมดก็คือพื้นฐานเครื่อง Valjoux 72 และที่เม็ดมะยมจะไม่มีตัวป้องกันกระแทก หรือ Crown Guard แบบรุ่นปัจจุบันก็เพราะมันต้องไขลาน

6) Daytona รุ่น Ref.4 หลัก ผลิตอยู่ในช่วงปี ค.ศ.1964-1988 ซึ่งน่าแปลกมากที่ปี ค.ศ.1964 เป็นปีที่ Rolex ใช้ Serial Number เข้าสู่หลัก 1,000,000 พอดี แถม Daytona ไปสิ้นสุดสายการผลิตที่ปี ค.ศ.1988 พร้อมกับที่ Rolex กำลังจะหมดตัวเลขสิ้นสุดที่ 9,999,999 พอดี (ดูตารางใต้รูปประกอบค่ะ) และเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงเป็นระบบ Serial Number ตัวอักษรนำหน้าตัวเลข พร้อมกับการเปลี่ยน Daytona Model เป็นเลข 5 หลักเหมือนจะตั้งใจ ดังนั้น หากบังเอิญใครมี Daytona Ref.4 หลัก หรือ Ref.5 หลักที่เป็น Series “R” ให้ทราบไว้ว่า คุณกำลังถือ Rolex รุ่นหายากไว้ในมือ

7) ปี ค.ศ.1988 Rolex ตัดสินใจเลิกใช้เครื่องไขลาน Valjoux และหันมาใช้เครื่อง Automatic จับเวลาของ “Zenith” ชื่อว่า ‘El Primero’ ที่ว่ากันว่าเป็นเครื่องจับเวลาที่ดีที่สุดสมัยนั้น แต่นำมาดัดแปลงโดยลดความถี่ลงจาก 36,000 VPH เป็น 28,800 VPH เพื่อเพิ่มความทนทาน และลานที่นานขึ้น และตัดกลไกบอกวันที่ออก เพื่อรักษาเอกลักษณ์ของ Daytona ไว้ แล้วตั้งชื่อเป็นเครื่อง Caliber 4030 นั้นก็คือที่มาของปฐมบท Daytona เครื่อง Zenith รุ่นเลข 5 หลัก Ref.16520 โดย Daytona Model 5 หลักใช้เครื่อง Zenith ทั้งหมดค่ะ

8) Daytona Model Ref.5 หลักที่เริ่มต้นที่ Series “R” เป็น ตัวอักษรแรกสุดของระบบ Series แล้วไปจบ รุ่นสุดท้ายปี ค.ศ.2000 มีคนเอาของมายืนยันแล้วนะว่ามันมีถึง Series “P” (ไม่ใช่ Series A นะคะ) ดังนั้นหากใครมี Daytona Series P ให้ทราบไว้ว่าคุณถือ Rolex รุ่นหายาก มูลค่ากว่าครึ่งล้านไว้ในมือ

9) ช่วงปลายก่อนเข้าสู่สหัสวรรษใหม่ Y2K หรือปี ค.ศ.2000 Daytona มีปัญหาอย่างหนักกับ Zenith เนื่องจากส่งเครื่อง 4030 ให้ล่าช้ามากเกิดปรากฎการณ์ Short Supply ทำให้ Daytona ขาดตลาดเป็นเวลานาน และแน่นอน ทำให้ราคาของ Daytona ขยับสูงขึ้นจนสุดโต่ง ซึ่ง Rolex ก็ได้ซุ่มทำเครื่องของตัวเองรอไว้แล้ว ดังนั้นในปี ค.ศ.2000 Rolex จึงประกาศเปิดตัว Daytona รุ่นเลข 6 หลัก “116520” ใช้เครื่องที่ Rolex ผลิตเอง Caliber 4130 มาจนถึงปัจจุบัน โดยเริ่มที่ Series P

10) ข้อแตกต่างที่เห็นได้ชัดที่สุดระหว่าง Daytona เครื่อง Zenith กับ Daytona เครื่อง Rolex คือ **วงวินาทีค่ะ** (ดูวงแดงตามรูป B และ C) คุณไม่ต้องเสียเวลาแกะสายเปิดฝา หากวงวินาทีอยู่ตรงเลข 9 คือเครื่อง 4030 ของ Zenith แต่ถ้าวงวินาทีอยู่ตรงเลข 6 คือเครื่องใหม่ของ Rolex Caliber 4130 ค่ะ

11) อันนี้สุดท้ายก็ไม่พ้นเรื่องราคา Rolex Daytona ที่แพงที่สุดที่เคยมีมา ถูกประมูลโดยสำนัก Christies เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2013 คือ Daytona รุ่นตามรูป A ซึ่งปกติ Daytona รุ่นเลข 4 หลักก็มีราคาหลักล้านบาทอยู่แล้ว โดยเฉพาะ Ref.6263 หน้าปัด ‘Paul Newman’ ตามที่เห็นในภาพ ราคาจะไม่ต่ำกว่า 3.5 ล้านบาท (ทั้ง ๆ ที่ช่วงปี 1969 ราคาขายอยู่เพียง 175 USD หรือไม่เกิน 7,000 บาทแถมช่วงนั้นยอดขายก็น้อยมาก เพราะสู้ความร้อนแรงของ Omega Speedmaster ‘The Moon Watch’ ไม่ได้)

แต่ Daytona Paul Newman ที่ประมูลวันนั้นแค่ คำว่า “Rolex / Oyster / Cosmograph” บนหน้าปัดสลับกันเป็น “Rolex / Cosmograph / Oyster” (ตามในรูป A วงสีเหลือง) จึงทำให้ถูกประมูล ไปถึง 1,089,166 USD หรือประมาณ 33 ล้านบาทค่ะ ดู Link ผลการประมูลได้ที่ http://www.christies.com/lotfinder/salebrowse.aspx?intsaleid=24636&viewType=list&action=sort&sid=d07314c0-5dea-4a53-a876-ab8a774cc4a3&sortby=ehigh

ยินดีรับข้อเสนอแนะติชม และขอบคุณที่อ่านค่ะ

Comments


Featured Posts
Recent Posts
bottom of page